ยุคสมัย & วัดของญี่ปุ่น
ยุคสมัยของญี่ปุ่น ตามปีคริสต์ศักราช
Prehistoric Era ยุคก่อนประวัติศาสตร์
Jomon 4500 BCE – 200 BCE
Yayoi 200 BCE. – ค.ศ.200
Kofun ค.ศ.200 – ค.ศ.552
(BCE = ก่อนคริสต์ศักราช)
Asuka ค.ศ.553- 644
Nara ค.ศ. 645-784
Heian ค.ศ.785 – 1184
Kamakura ค.ศ.1185-1392
Muromachi ค.ศ.1393 – 1568
Momoyama ค.ศ.1569-1603
Edo ค.ศ.1603 -1867
Meiji ค.ศ.1868 – 1911
Taisho ค.ศ.1912 – 1925
Showa ค.ศ.1926 – 1989
Heisei ค.ศ.1989- ปัจจุบัน
รายละเอียดอ่านได้ที่ ประวัติญี่ปุ่น
ศาสนาในญี่ปุ่น
วัด ใช้กับศาสนาพุทธ
ศาลเจ้า ใช้กับศาสนาชินโต
แต่เนื่องจากมีการผสมปนเปของศิลปะและพิธีกรรมเป็นช่วงๆตามยุคสมัย บางแห่งจะสังเกตว่ามีศาลเจ้าในวัดด้วย เช่นที่ Kiyomizudera เพราะมีช่วงหนึ่งที่ถือว่าเทพของชินโตเป็นอารักขาของพุทธ
แต่หลังจากสมัยเมจิ ก็แยกออกจากกันค่อนข้างชัดเจน เพราะรัฐบาลยุคปฏิรูปเป็นกลุ่มต่อต้านศาลนา พุทธ พยายามยกชินโตขึ้นมาให้เด่น แต่ก็เรียกได้ว่าช้าไปแล้ว ที่จะเอาอิทธิพลที่ทั้งสองศาสนามีต่อกันแยกออกจากกันให้ชัดเจน
ดังนั้นในปัจจุบันจะเห็นว่า ชินโตได้รับอิทธิพลของพุทธมามาก (ถ้าที่ศาลเจ้ามีสัญลักษณ์สวัสดิกะกลับด้านอยู่ด้วย แสดงว่าศาลเจ้านั้นรับ ความเชื่อ และพิธีกรรมบางอย่างของพุทธมาด้วย มักอยู่บริเวณจั่วค่ะ)
และพุทธเองก็รับเอาความเป็นชินโตเข้าไปด้วย (เช่นที่ Sanjusangedo มีเทพของชินโตเทพลมและเทพสายฟ้าขนาบข้าง Kannon)
ข้อสังเกตของชื่อสถานที่ว่าที่ใดเป็นพุทธหรือชินโต ให้ดูที่ส่วนลงท้าย
-ji, -dera, -in คือวัด
-jinja ศาลเจ้า
-jingu ศาลเจ้าขนาดใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับราชวงศ์
-taisha ศาลเจ้าขนาดใหญ่
ความรู้เกี่ยวกับศาสนาพุทธในญี่ปุ่น
เป็นธรรมดาที่หากถามคนญี่ปุ่นแล้วบอกว่า ไม่ได้นับถือศาสนาใด เพราะที่ญี่ปุ่นไม่มีบังคับว่าต้องเขียนลงไปในเอกสารราชการเรื่องศาสนา เหมือนเมืองไทย
อย่างไรก็ตาม คนญี่ปุ่นกว่า 70% ก็นับถือพุทธ และกว่า 90% เลือกที่จะทำพิธีศพแบบพุทธเมื่อเสียชีวิตลง
ศาลนาพุทธในญี่ปุ่นเข้ามาจากจีนและเกาหลีประมาณศตวรรษที่ 5 (บ้างเชื่อว่าเข้ามาก่อนหน้านั้นแต่ไม่รุ่งเรือง) และผ่านช่วงรุ่งเรืองและตกต่ำตามแต่ผู้สนับสนุน ซึ่งมักเป็นราชวงศ์ และ โชกุนในยุคต่อมา
นิกายในญี่ปุ่น
ศาลนาพุทธในญี่ปุ่นแบ่งเป็นหลายนิกาย ซึ่งเข้ามาในญี่ปุ่นคนละสมัยกัน
สมัย Asuka และ Nara
ได้รับการสนันสนุนจากเจ้าชาย Shotoku ทำให้รุ่งเรืองอย่างมาก แต่ยังถือกันว่าเป็นศาสนาที่นับถือและมีอิทธิพลกับชนชั้นสูงและกลุ่มพระ เพราะไม่ได้ลงมาเกี่ยวข้องกับประชาชนทั่วไปเท่าไร และไม่ได้มีการสอน หรือให้ความรู้กับชุมชน มีหน้าที่ทำพิธีต่างๆที่เกี่ยวข้องกับราชวงศ์ แบ่งนิกายออกเป็น 6 นิกาย คือ
1. Ritsu (Vinaya)
2. Joujitsu (Satyasiddhi)
3. Kusha (Abhidharma)
4. Sanron (Madhyamika)
5. Hossou (Yogaiara)
6. Kegon (Hya-yen)
ในช่วงปลายสมัย Nara เริ่มมี Esoteric Buddhism หรือพุทธวัชรยานที่เน้นการปฎิบัติ เข้ามาสองสาย คือนิกาย Shingon ที่ก่อตั้งโดยพระคุณเจ้า Kukai (ออกเสียงแบบญี่ปุ่นว่า Kuukai) และนิกาย Tendai ที่ก่อตั้งโดยพระคุณเจ้า Saichou
กลุ่ม Esoteric จะค่อนข้างสันโดษ ปลีกวิเวกเข้าไปในป่า ทำให้มีการสร้างวัดบนภูเขาที่ห่างไกลจากเมืองมาก และโครงสร้างของวัดจะแตกต่างจากแบบเดิม เพราะไปตั้งอยู่บนพื้นที่ที่เป็นภูเขาไม่มีที่ราบขนาดกว้าง
– สมัย Heian พุทธกับชินโตเริ่มมีการผสมปนเปกัน
– สมัย Kamakura มีพุทธมหายานเข้ามาสองสาย คือ Pure Land (Joudo / สุขาวดี) และเซน
มีการจัดตั้งระบบโชกุนที่เมือง Kamakura กลุ่ม Samurai รุ่งเรือง ซึ่งพอดีกับที่มีพุทธมหายานนิกายเซน เข้ามา เน้นปฏิบัติ ระเบียบ อย่างมาก ซึ่งเข้ากับวิถีแบบซามูไรเซนจึงได้รับความนิยมและสนับสนุนอย่างมากในยุคนี้
นอกจากนี้นิกาย Nichiren ก็ได้รับการก่อตั้งขึ้นในญี่ปุ่นเองด้วย
สมัย Muromachi นิกายเซน Rinzai ได้รับการสนับสนุนจากโชกุนและองค์จักรพรรดิ ทำให้เจริญรุ่งเรืองไปอย่างมาก
สมัย Azuchi- Momoyama และ Edo อิทธิพลของพุทธเริ่มเสื่อมลง และชินโต กับขงจื๊อใหม่ (Neo-Confucianism) เข้ามามีบทบาทมากขึ้น มีการปิดประเทศ ทำให้ไม่มีการรับนิกายใหม่ๆมาจากต่างประเทศในยุคนี้ ยกเว้นนิกายเซน Oobaku ที่พระจีน Ingen นำเข้ามาในสมัย Edo ศตวรรษที่ 17
สมัย Meiji ปี1868 มีการปฏิรูปเมจิ รัฐบาลใหม่ต่อต้านพุทธ เพราะพุทธมีความเกี่ยวพันแน่นแฟ้นกับระบบโชกุน จึงได้มีการทำลายวัดมากมาย และยกชินโตขึ้นเป็นศาสนาประจำชาติแทน พุทธหลายนิกายค่อยๆหายไปเพราะไม่ปรับ ตัวให้เข้ากับนโยบายของรัฐบาล แต่นิกายที่เลือกที่จะปรับตัวเพื่อความอยู่ รอดคือเซน Rinzai และเซน Soutou ในยุคนี้เอง ที่เริ่มมีการเปลี่ยนแปลง ทำให้พระในศาสนาพุทธ (นิกาย Pure Land) กินเนื้อสัตว์ได้ และแต่งงานได้
หลังยุค Meiji ถึงก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง มี 13 schools, 56 branches ระหว่างสงครามจำนวนได้ลดลงครึ่งหนึ่ง และหลังจากสงครามจบลง บางส่วนได้รับการฟื้นฟูกลับมาใหม่ บางส่วนก็มีนิกายย่อยแตกออกไปแทน
Subset ของ Schools/sect ต่างๆ ในญี่ปุ่น
มหายาน (Mahayana Buddhism)
Pure Land Schools
Joudo-shuu
Joudo-Shinshuu
Jishuu
Yuuzuu-Nenbutsu-Shuu
Zen schools
Rinzai (ก่อตั้งโดยพระคุณเจ้า Eisai โดยได้รับอิทธิพลจากพุทธสมัย Nara นิกาย Hossou และ Kegon)
Soutou
Oobaku
Fuke → Abolished 1871
Ritsu School
Sanron
Hossou
Nichiren
วัชรยาน (Esoteric Buddhism)
Tendai
Shingon
Shinnyo-en
ในปัจจุบันนิกายที่ได้รับการนับถือในปัจจุบันมากที่สุดคือ Pure Land, Nichiren, Shingon และเซน
แม้ว่าคนนับถือเซนน้อยที่สุดในกลุ่มนี้ แต่นับว่ามีอิทธิพลต่อการใช้ชีวิตและวัฒนธรรมของคนญี่ปุ่นมากที่สุด
และเมื่อพูดถึงพุทธในญี่ปุ่น ชาวต่างชาติก็จะนึกถึงเซนเป็นอย่างแรกอีกด้วย เช่นการนั่งสมาธิ Zazen ซึ่งเป็นวัตรของนิกายเซน
พระพุทธรูปในญี่ปุ่น
พระพุทธรูปในญี่ปุ่นมีหลายปาง หลายพระพักตร์ แบ่งได้ง่ายๆเป็นสี่แบบคือ ** จำไว้ว่า ศาสนาพุทธในญี่ปุ่นเป็นมหายาน กับวัชรยาน ต่างจากแบบเถรวาทของไทยที่นับถือพระพุทธเจ้าพระองค์เดียวคือองค์ปัจจุบัน
1. Nyorai (พระพุทธเจ้า)
เป็นพระพุทธเจ้าชั้นสูงสุด สวมใส่จีวร พระเกศาเป็นรูปก้นหอยเล็กๆขมวดวนไปทางขวา ได้แก่ Dainichi Nyorai ซึ่งเป็นต้นกำเนิดแห่งจักรวาล, Yakushi Nyorai พระหัตถ์ซ้ายถือบาตร, Amida Nyorai พระศาสดาแห่งแดนสุขาวดี, และ Shaka Nyorai สานุศิษย์ของพระพุทธเจ้า
นอกจากนี้ยังมีปางอื่นๆอีก ที่มีชื่อเสียงก็เช่น Amida Nyorai แห่งวัด Byodo-in (ที่เมือง Uji ใกล้เกียวโต) และวัด Houkongou-in, รูปปั้น Yakushi Nyorai แห่งวัด Shoji-ji(Temple of flowers ที่แถบ Ooharano ในเกียวโต)
2. Bosatsu (พระโพธิสัตว์)
เป็นพระพุทธเจ้าที่ยังอยู่ระหว่างการปฏิบัติธรรมเพื่อเป็น Nyorai ประกอบด้วย
Kannon (พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร) พระโพธิสัตว์แห่งความกรุณา เป็นที่ได้รับการยอมรับอย่างเป็นสากลที่สุดในพุทธศาสนาฝ่ายสหายาน
Miroku พระศรีอริยเมตไตรย คือ พระโพธิสัตว์ผู้ที่จะมาอุบัติเป็นพระพุทธเจ้าลำดับที่ 5 ในภัทรกัปป์ต่อจากพระโคตมพุทธเจ้า เป็นที่รู้จักจากความมีมหากรุณาต่อสรรพสัตว์ เป็นที่นับถือทั่วไปทั้งในฝ่ายเถรวาทและมหายาน
Monju พระมัญชุศรีโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์แห่งปัญญา
Jizo พระกษิติครรภมหาโพธิสัตว์ เป็นพระโพธิสัตว์แห่งสัตว์นรกทั้งปวง หรือพระโพธิสัตว์ผู้มีมหาปณิธาน
อื่นๆ เช่นปาง Nikko, Gakko
3. Myo-o เทพเมียวโอ
จะมีพระเกศาตั้งขึ้น สีพระพักตร์โกรธ พระหัตถ์ถือเครื่องมือปราบสิ่งชั่วร้ายเพื่อสั่งสอนผู้ที่ไม่เชื่อฟัง ที่สำคัญได้แก่ เทพเมียวโอใหญ่ทั้ง 5 คือ
Fudo Myo-o ที่พระหัตถ์ขวาถือดาบ
Gozanze Myo-o ถือศรและคันเชือก
Gundari Myo-o มีพระหัตถ์และพระบาทพันด้วยงู
Daitoku Myo-o มี 6 พระพักตร์ 6 พระหัตถ์ 6 พระบาท
Kongoyasha Myo-o ที่มี 5 ตา
โดยเทพเมียวโอทั้งห้านี้ มีประดิษฐานอยู่ที่วัด Tou-ji
4. Tenbu เทพเจ้าผู้ปกป้องพระธรรม
โดยจะมีเทพ Taisha Kuten เป็นเทพผู้ปกป้องพระธรรม และมีบริวาร ได้แก่
Tamon-ten (Bishamonten)
Zajoten, Komokuten
Jikokuten
และเทพอื่นๆอีก เช่น
Banzaiten
Kishoten ที่เป็นที่รู้จักกันดีเช่นรูปปั้น
Tobatsu-Bishamonten แห่งวัด Tou-ji
รูปปั้น Banzaiten แห่งวัด Choken-ji
รูปปั้น Kishoten อันงดงามแห่งวัด Kyoururi-ji
รูปเคารพอื่นๆที่พบได้บ่อย เช่น
Nio (นิโอ) คือ ผู้พิทักษ์ที่เข้มแข็ง 2 องค์ของพระพุทธเจ้า มักปรากฏอยู่ที่ประตูทางเข้าวัดพุทธศาสนาหลายแห่งในญี่ปุ่นและเกาหลี มีรูปลักษณ์ดั่งนักมวยปล้ำที่ดูน่าสะพรึงกลัว นิโอทั้งสองนี้เป็นร่างสำแดงของพระวัชรปาณีโพธิสัตว์ (พระโพธิสัตว์ที่ถือสายฟ้า)
ข้อมูลดีๆจากสมาชิกเวปพันทิป คุณ blueschizont
สวัสดีค่ะ GoNoGuide มีเป้าหมายที่จะให้ข้อมูลท่องเที่ยวและวีซ่า อย่างเต็มที่ในทุกเรื่องที่เรารู้ เพื่อนๆที่ต้องการสนับสนุนเรา สามารถทำได้ดังนี้
- เลือกบริการที่ต้องการสนับสนุนเรา
- GoNoGuide จะได้รับค่าคอมมิชชั่นเล็กๆน้อยๆ โดยที่เพื่อนๆไม่ต้องจ่ายอะไรเพิ่ม สำหรับลิงค์แนะนำโรงแรม เครื่องบิน และประกันต่างๆ
- กดติดตามช่อง Youtube และ Facebook GoNoGuide
ขอขอบคุณที่สละเวลาอ่านค่ะ