Wurzburg residence

เที่ยวเยอรมัน-38

เดินจาก Hotel ibis ไป Wurzburg residence

ตอนที่แล้วพวกเราเดินจาก Wurzburg Hbf ไป Hotel ibis กว่าจะเจอ กว่าจะเช็คอิน กิน พักผ่อนเสร็จ ก็ปาเข้าไปบ่ายโมงแล้ว เรายังต้องเดินหา Wurzburg residence กันต่อค่ะ

จริงๆภาษาเยอรมันเขียนว่า Residenz Würzburg  ตัว ü เขาออกเสีย อื หรือ อึ อ่านรวมๆกันก็เลยเป็น เวืร์ซบวร์ก แต่ในที่นี้ขอเขียน Wurzburg เป็นแบบภาษาอังกฤษแล้วกันนะคะ ง่ายดี


 

จาก Hotel ibis ไป Wurzburg residence

พวกเราเริ่มต้นเที่ยวที่นี่กันตอนบ่ายโมงกว่า ซึ่งก็คิดเอาไว้แล้วว่าคงไม่ได้เที่ยวได้หมดเมืองแน่ๆ จึงจับแต่ที่หลักๆ สำคัญๆ และที่เป็นสัญลักษณ์ของเมืองนี้ก็คือ Wurzburg residence

ถ้าเดินมาจาก Wurzburg Hbf ก็คงไม่ไกลค่ะ  แต่เราเดินจากโรงแรม ซึ่งอยู่กันคนละทิศ ระยะทางร่วม 2 กม. แต่ไม่ได้มีกระเป๋าลากแล้วก็ตัวเบาค่ะ

ระหว่างทางเดินก็ไม่น่าเบื่อเลย และพูดได้เต็มปากเลยว่า “นี่แหล่ะ…ยุโรปในจินตนาการ”

ทางเดิน ถนน ตึกรามบ้านช่อง ผู้คน  “โอ๊ย…เหมือนในหนังอ่ะ”

ชอบมากๆค่ะเมืองนี้ เสียดายแค่อย่างเดียวคือ “ทำไมได้เที่ยวนิดเดียวว้าาา”

เพราะก่อนมาคิดว่า เราเดินทางออกจากบ้าน ต่อเครื่อง ขึ้นเครื่อง กว่าจะมาถึงแฟรงค์เฟิร์ท รุ่งขึ้นก็เที่ยวไฮเดลเบิร์กแบบเต็มที่อีก  งั้นวันนี้ขอพักผ่อนซักวันละกัน

คิดว่า Wurzburg ไม่ค่อยดังเท่าไหร่ คงไม่ค่อยมีอะไรหรอก แค่วังอย่างเดียวกับเดินเล่นนิดๆหน่อยๆก็คงหมด

นี่อะไรกัน ทำไมๆๆๆๆ อยากให้กลางวันยาวขึ้นสองเท่าเลยค่ะ  แถมวันนี้ยังมีฝนอีกด้วย พระเจ้าคงอยากให้เราพักผ่อนจริงๆใช่มั้ย


 

ประวัติเมือง Wurzburg

เห็นใหม่ๆแบบนี้ ที่จริงๆ Wurzburg เป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนานมากแล้วค่ะ  ก่อตั้งมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 10 เป็นที่ประทับของ Prince-bishops มาหลายศตวรรษ

(คือเมืองนี้สมัยก่อนปกครองด้วยพระค่ะ  ไม่มี king)

 

แต่เนื่องจากทั่วทั้งเมือง Wurzburg ได้รับความเสียหายอย่างหนักกว่า 90% จากการถูกทิ้งระเบิด นานกว่า 20 นาที ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2  ปีค.ศ.1945

ไม่ว่าจะเป็น Wurzburg Hbf บ้านเรือนต่างๆ รวมถึง Wurzburg residence ก็ถูกทำลายไปด้วยค่ะ

คือที่ตกใจมากก็ตอนที่เห็นภาพเมือง และวัง ถูกระเบิดลง แบบเรียกว่า “ราบเป็นหน้ากลอง” ก็เพิ่งเข้าใจนี่แหล่ะค่ะ

คือราบเรียบจริงๆค่ะ ไม่เหลืออะไรเลย คิดถึงสภาพบ้านเรือนทั้งเมืองนะคะ ไม่ใช่แค่จุดๆเดียว “ทั้งเมือง” ค่ะ มันพังหมดเลย  ดำไปหมด ของใช้ไม่ต้องพูดถึง คืออยู่ไม่ได้อ่ะค่ะ

 

ดังนั้นสิ่งก่อสร้างส่วนใหญ่ที่เราเห็นเกือบทั้งหมด ก็จะเป็นอาคารที่ได้รับการฟื้นฟูขึ้นใหม่ แต่ยังคงอนุรักษ์ให้ศิลปะเป็นแบบเดิมอยู่

นี่คือเรื่องที่สร้างความ “น่าทึ่ง” สำหรับพวกเรามากค่ะ  เพราะประเทศผู้แพ้สงคราม ทั้งประเทศถูกถล่มหมด ไม่ใช่แค่เมืองเดียวนะ คือเกือบทั่วประเทศนะ  ไหนจะต้องจ่ายค่าปฏิกรรมสงคราม ไหนจะเรื่องปากท้องประชาชน

ทำไมมีกระจิกกระใจมาสร้างบ้านให้เหมือนเดิมอยู่  ทำไมไม่สร้างแบบง่ายๆ ตึกแถวอะไรอย่างนี้  รักษาศิลปะ ปฏิมากรรม มันไม่ใช่เรื่องง่ายนะคะ แถมก็ไม่ใช่ถูกๆ

แม้ว่าหลังสงคราม กองทัพอเมริกันก็ได้เข้ามาช่วยบูรณะซ่อมแซม และเข้ามาอาศัยอยู่เยอะมาก จึงทำให้บ้านเรือนอาจมีลักษณะแบบอเมริกาบ้าง  แต่หลังจากปี 2006 กองทัพอเมริกันได้ย้ายออกไปแล้วค่ะ


 

เที่ยวเยอรมัน-40

 

Wurzburg Residence  UNESCO’s World Heritage

เป็นหนึ่งในวังสไตล์Baroque ที่สำคัญที่สุดที่หนึ่งของยุโรป

ก่อตั้งในสมัย Price-Bishop Johann Philipp Franz von Schönborn

เริ่มสร้างเมื่อปี1720 แล้วก็ค่อยๆสร้างห้องนู้นห้องนี้ไปเรื่อยๆ พร้อมๆกับการผลัดเปลี่ยนของ Prince-Bishop  จนไปสิ้นสุดที่ปี1781  โดยมีค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างทั้งสิ้น 1.5 ล้าน florins  ซึ่งถือว่าแพงมาก

อย่างที่เล่าข้างต้นว่าพระราชวังเวิร์ซบวร์ก ถูกทำลายไปจนแทบไม่เหลือจากช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง

ดังนั้นพระราชวังที่เราเห็นอยู่ปัจจุบัน  คือของใหม่ที่สร้างให้เหมือนเก่า ซึ่งใช้เงินไปราว 20 ล้านยูโร (นึกจากค่าเงินสมัยนั้น ถือว่ามากโขอยู่นะคะ)

พระราชวังแห่งนี้  มีชื่อเสียงว่าใหญ่ที่สุดในโลก  ด้วยจำนวนห้องถึง 300 ห้อง  ห้องส่วน wings อีกมากกว่า 3 ส่วน  ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงอำนาจของ Prince-bishops

 

ค่าเข้า 7.5 ยูโร

ห้ามถ่ายรูปถ่ายวิดีโอ  ถ้าถ่ายก็ต้องเก็บไว้ดูคนเดียว ห้ามนำออกสู่สาธารณะ  , ห้ามแบกกระเป๋าใบใหญ่ จะมีล็อคเกอร์ให้เก็บฟรีค่ะ

ในเวปเขียนว่า ต้องมีไกด์พาชมเท่านั้น  ไกด์ภาษาอังกฤษมี 3 รอบ 11.00 , 13.30 , 15.00 (ช่วง เม.ย.-ต.ค.เพิ่มรอบ 16.30)

ตอนไปจริง เราก็นึกว่าต้องรอไกด์รอบถัดไป  เพราะเห็นกลุ่มนึงที่มีไกด์พูดอยู่(อาจจะเป็นทัวร์)  ก็เลยไปถามคนดูแล ก็ได้ความว่า เข้าชมได้เลย ไม่มีไกด์ค่ะ

ถ้าใครเคยดูหนังเรื่อง The Three Musketeers ก็อาจจะจำฉากหลายๆฉากได้ โดยเฉพาะฉากด้านหน้าที่ของจริงค่อนข้างต่างจากในหนังนะ

 


 

ตั๋ว 14 Days Ticket

พวกเรามาเที่ยวทริปนี้ ต้องมีเข้าปราสาท ราชวังอีกเยอะค่ะ  และตั๋วที่คุ้มค่าที่สุดสำหรับเราก็คือ ตั๋วเข้าปราสาท และวังในเขตบาวาเรีย ใช้ได้ภายใน 14 วัน

ราคา 44 ยูโรต่อสองคน (คนเดียว 24 ยูโร) (ราคาปี2016)

โดยปกติค่าเข้าปราสาท ก็ประมาณ 7 – 12 ยูโร  เฉลี่ยประมาณ 9 ยูโร  ถ้าคิด 22 หารด้วย 9  แปลว่า เข้าแค่ 3 ที่ก็เกินราคาตั๋วแล้วนะคะ

แต่เราเข้าไปประมาณ 10 ที่ ก็ถือว่าเป็นตั๋วที่คุ้มค่าน่าเอามาป่าวประกาศที่สุดแลยค่ะ

ก่อนจะซื้ออย่าลืมตรวจสอบด้วยว่า ใช้เข้าที่ที่เราจะไปได้หรือเปล่าด้วยนะคะ schloesser.bayern.de (ดูเมืองที่เมนูด้านซ้ายค่ะ)

เนื่องจากที่นี่เป็นที่แรกของการใช้ตั๋วนี้ ก็สามารถซื้อตั๋ว 14 days ticket ได้ที่เคาร์เตอร์ซื้อตั๋วตามปกติได้เลยค่ะ

พูดแค่ “I’d like to buy 14 days ticket” เขาก็เข้าใจแล้วค่ะ

คนขายตั๋วอารมณ์ดี๊ดี  บริการก็ดี ยิ้มแย้ม น้ำเสียงเพราะมากค่ะ (ขนาดเป็นผู้ชายนะ)


 

สรุปความประทับใจที่ Wurzburg residence

–  9/10  ที่ให้ไม่เต็มไม่ใช่เพราะไม่ดีนะคะ เพียงแค่ยังไม่ถึงขั้นแตะหัวใจให้ตื่นเต้นแบบพีคๆได้แค่นั้นเองค่ะ

–  ด้านในห้ามถ่ายรูป ห้ามถ่ายวิดีโอ ก็เลยไม่ได้ถ่ายวิดีโอมาให้ดูค่ะ แต่ก็สามารถเข้าไปชมในเวป residenz-wuerzburg.de ได้ค่ะ

–  ห้องเยอะมาก คนเข้าชมไม่เยอะ พวกเราใช้เวลาเข้าชมประมาณ 1 ชั่วโมงกว่าๆ เดินแบบเก็บรายละเอียดกลางๆ (แต่ก็ไม่ค่อยรู้เรื่องอ่ะ แหะๆ)

–  ถ้าถามว่าคุ้มมั้ยถ้าจะจ่ายค่าเข้า 7.5 ยูโร (~300 บาท) พูดแบบไม่ต้องคิดเลยค่ะว่า “สมควรเข้าอย่างแรง”  ยิ่งใครใช้ตั๋วเข้าปราสาทแบบเรา ก็ต้องห้ามพลาดเด็ดขาดค่ะ


 

วิดีโอ Walking from Hotel ibis to Wurzburg residence : Germany-Austria Travel Vlog Ep30 

 

ตอนต่อไป  รีวิว ibis Hotel Wurzburg City

ติดตามตอนใหม่ Go No Guide Facebook Fanpage

สวัสดีค่ะ GoNoGuide มีเป้าหมายที่จะให้ข้อมูลท่องเที่ยวและวีซ่า อย่างเต็มที่ในทุกเรื่องที่เรารู้ เพื่อนๆที่ต้องการสนับสนุนเรา สามารถทำได้ดังนี้

  • เลือกบริการที่ต้องการสนับสนุนเรา
  • GoNoGuide จะได้รับค่าคอมมิชชั่นเล็กๆน้อยๆ โดยที่เพื่อนๆไม่ต้องจ่ายอะไรเพิ่ม สำหรับลิงค์แนะนำโรงแรม เครื่องบิน และประกันต่างๆ
  • กดติดตามช่อง Youtube และ Facebook GoNoGuide

ขอขอบคุณที่สละเวลาอ่านค่ะ


ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.