Travel Scam

เที่ยวต่างประเทศ โดนหลอก อะไรบ้าง

แชร์ประสบการณ์ กลลวง ขโมย ฉกชิง วิ่งราว โดน scam ขณะท่องเที่ยวในต่างประเทศ มีอะไรบ้างที่ควรระวัง รู้ไว้ก่อนเดินทาง และวิธีแก้ วิธีลดความเสี่ยง รู้ทันมิจฉาขีพ

แต่ต้องเข้าใจก่อนว่า ทุกการ scam คือเราต้องเสียของ หรือเสียเงิน แต่หายากที่จะโดนทำร้ายร่างกาย (ไม่ใช่ไม่มี แต่ยากมาก) แปลว่าเลวร้ายที่สุดคือเราเสียเงิน เสียของ ฉะนั้น อย่าทำให้ความกลัวรั้งเราไม่ให้เดินทาง

เท่าที่เจอจะแบ่งเป็นหลักๆคือ

ขอเงิน

  • ขอตรงๆเลย มีทั้งผู้ใหญ่ และเด็ก
  • ขอแบบมีอุบาย เช่น ทำแบบสอบถาม ขอให้ลงชื่อบริจาคการกุศล
  • ขอแบบสร้างสถานการณ์ก่อน เช่น ช่วยซื้อตั๋วให้ ใส่ชุดตุ๊กตาเข้ามากอด ยัดอะไรใส่มือ ถ่ายนก แล้วเก็บตังค์
  • ตีสนิท my friend

ขโมย ฉกชิง วิ่งราว

  • ทำเป็นช่วยยกกระเป๋า แล้วแอบขโมย
  • ทำเสื้อเราเลอะ แล้วแอบขโมย
  • แกล้งชนแล้วแอบขโมย
  • ยืนใกล้ทางออกประตูรถไฟ แล้วดึงไปเลย

มีกลอุบาย

  • ขอให้ถ่ายรูปให้ แล้วอาจแกล้งทำตก เรียกค่าเสียหาย
  • เกมส์บนทางเท้า
  • แลกเงินข้างถนน ให้ธนบัตรปลอม หรือธนบัตรคนละประเทศ

โดนแฮ็กข้อมูล

  • ใช้ wifi สาธารณะ โดนแฮ็กบัตรเครดิต
  • กดเอทีเอ็ม โดนกินบัตร โดนขโมยข้อมูล

1. ขอตรงๆ : เดินขอทาน

ขอทานแบบเดินมาขอเงินตรงๆเลย เขาจะเข้ามาแบบประชิดตัวเลย แต่งตัวสกปรก ถ้าคิดในแง่ร้ายหน่อย ก็อาจเห็นว่าเราเก็บเงินที่ไหน แล้วอาจมีแก๊งคอยฉกทีหลัง หรือเห็นว่าของ่ายก็อาจขอเพิ่ม หรือมีเพื่อนๆมาขออีก

วิธีลดความเสี่ยง

จำไว้ว่า เอ็นดูเขา เอ็นเราขาด ให้เงินขอทาน ก็ถือเป็นการสนับสนุนให้เขาทำแบบนี้ต่อเรื่อยๆ ถ้าเราไม่ให้เดี๋ยวเขาก็จะไปหางานอย่างอื่นทำเอง การให้ขอทานไม่ได้ได้บุญอะไร แต่เป็นการทำบาปให้เขาด้วยซ้ำ

เราควรให้เงินขอทานมั้ย?


1. ขอตรงๆ : เด็กมาขอเงิน

การขอเงินตรงๆไม่ใช่มีแค่ผู้ใหญ่ ยังมีเด็กด้วย ต่างจากขอทานผู้ใหญ่ตรงที่ เราเสียเปรียบเต็มๆ เพราะเราทำอะไรเด็กไม่ได้

เหตุเกิดกับตัวเองในประเทศแอลเบเนีย ตอนเลือกซื้อเสื้อผ้าอยู่ในห้าง ย้ำว่าในห้างนะ จู่ๆก็มีเด็กอายุประมาณ 4-5 ขวบ เนื้อตัวมอมแมม มายืนข้างๆแบมือขอเงิน เราก็ตกใจนิดหน่อย แต่ทำเป็นไม่สนใจ เลือกเสื้อผ้าต่อ

จากนั้นเด็กคนนั้นก็เข้ามาแบบประชิดมาก ร้องขอเงินทำทีจะเอามือมาจับมือเรา เราก็กระเถิบหนี มองหน้า โบกมือทำนองไม่ๆ แล้วก็เดินหนี ทำทีไปเลือกเสื้อผ้าจุดอื่นแทน

พอเดินหนี เด็กก็เดินตาม ตอนนั้นหลอนมาก นี่เราอยู่ในห้างนะ พอเราเริ่มวิ่ง เด็กก็วิ่งตามด้วย แล้วเข้ามาจับมือเรา เราก็สะบัด พร้อมกับร้องเสียงดัง ตะโกน Help! Help!

ไม่น่าเชื่อว่าไม่มีพนักงานซักคนมาห้าม ไม่มีลูกค้าซักคนมอง เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น เข้าใจว่าคนอื่นๆนึกว่าเราวิ่งเล่นกับเด็กแหล่ะ

จากนั้นเราก็วิ่งเข้าไปในเขตที่เขากั้นไม้อยู่เหมือนเป็นจุดเคาร์เตอร์จ่ายเงิน ที่ไม่มีพนักงาน เราก็เอาที่กั้นกั้นไว้ไม่ให้เด็กเข้ามาได้ แล้วตะโกน Help! Help!

สุดท้ายมีลูกค้าหันมามอง (คงเพิ่งรู้ว่าเราไม่ได้เล่นกัน) แล้วก็จับเด็ก น่าจะคุยประมาณว่า ไม่ได้นะ ห้ามทำแบบนี้ แล้วเด็กก็ออกไป ที่น่าแปลกใจคือ ไม่มีใครตกใจ ไม่มีพนักงานเข้ามาถามเราว่าเป็นอะไรมั้ย คือเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลย

ตอนนั้นจี๊กับอ๊อบแยกกันเดิน จี๊โดนเด็กวิ่งตาม อ๊อบลองเสื้ออยู่ในห้องลอง(ไม่รู้เรื่องอะไรเล๊ย!)

วิธีลดความเสี่ยง

ยังหาวิธีแก้ไม่ได้เลย เพราะทั้งใช้ไม้เฉย ไม้ไล่ ไม้หนี ไม่ได้ผลเลยกับเด็ก วิ่งหนีก็สู้ความเร็วเด็กไม่ได้ จะใช้กำลังก็ยิ่งไม่ได้ คิดได้อย่างเดียวคือหาที่กำบัง


1. ขอแบบมีอุบาย : ทำแบบสอบถาม ลงชื่อบริจาคการกุศล

ณ เมืองเบอลิน ประเทศเยอรมนี เรากำลังนั่งเล่นที่สนามหญ้ารัฐสภา เป็นลานกว้าง มีคนนั่งจับกลุ่มปิคนิค นั่งคุย ผู้คนมากมาย มีผู้หญิง 2 คนเดินเข้ามาพร้อมแผ่นกระดาษ ให้เซ็นต์ชื่ออะไรไม่รู้ เราโบกมือปฏิเสธ ไม่มองว่ามันคืออะไร แต่เขาไม่ยอมไป แล้วก็ยื่นใบมาให้เซ็นต์อีก เราเหลือบไปเห็นตัวเลข เข้าใจว่าเป็นจำนวนเงิน เราพูดภาษาไทยไปเลย ไม่เอา ไม่รู้เรื่อง ไปๆ

คือที่เราต้องพูดแรงเพราะเราต้องเตือนตัวเอง ต้องบิ้วท์ตัวเองไม่ให้ใจอ่อน ไม่ให้ไปเห็นใจ คือต้องสวมบทนางมารร้ายไปเลย

แต่ๆๆๆ ผู้หญิงหนึ่งในสองคนนั้นก็ชี้มาที่ผลไม้ที่เรากำลังนั่งกินอยู่ เราก็เข้าใจว่าจะเอา เออ…เอาไป (เห็นมั้ย ไม่เท่าไหร่ก็เห็นใจแล้วอ่ะ)

หลังจากนั้นทั้งสองก็หายไป อีกสักพักไม่นาน ก็มีผู้หญิงอีกสองคนเข้ามาอีก แต่เป็นคนละคนกับสองคนแรก ให้เซ็นต์เหมือนกันเป๊ะ เราด่าเลย “ก็บอกว่าไม่สนใจไง” (ภาษาไทย) แล้วผู้หญิงหนึ่งในสองคนนั้นก็ชี้มาที่ผลไม้เราอีก พอถึงตรงนี้เราปรี้ดแตกของจริงแล้ว ของมันไม่ได้ราคาถูกนะเฟ้ย ไม่ให้โว้ย ไปๆๆๆๆ ไอ้…. (เสียงอย่างดัง)

คือใครจะว่ายังไงก็ช่างนะ ใครจะคิดว่าเรามารยาทไม่ดีก็ช่างเถอะ แต่มันคือกระบวนการของการป้องกันตัว ในที่ที่ไม่มีใครช่วยใคร ต้องช่วยตัวเอง ทำเสียงดังเข้าไว้ โวยวาย ให้คนอื่นได้ยิน ไม่รักษาลุกแล้ว

วิธีลดความเสี่ยง

แบบนี้มันคือการไถเงินนักท่องเที่ยวแบบมีอุบาย ไม่ได้ขอเงินโต้งๆ แต่ทำเหมือนให้เราบริจาคเข้าองค์กร แต่จริงๆไม่ได้มีองค์กรอะไรหรอก เข้ากระเป๋าเขานั่นแหล่ะ แต่ถ้าอยากบริจาค ก็มีองค์กรทางการเยอะแยะ มีหลักฐานบริจาคด้วย ไม่ใช่ควักเงินจ่าย ลงชื่อไม่มีหลักฐานอะไรเลย


1. ขอแบบสร้างสถานการณ์ : ช่วยซื้อตั๋ว

ปกติคนท้องถิ่นก็กดซื้อตั๋วที่ตู้แป้บเดียวแล้วก็ไป แต่นักท่องเที่ยวที่เคยไปสถานที่นั้นๆครั้งแรก แน่นอนว่าจะต้องมึนงงว่าจะซื้อตั๋วยังไง จ่ายยังไง ต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจพอสมควร

ทีนี้คนที่รอเหยื่อก็จะเห็นแล้วว่าคนนี้กำลังงงๆ ก็จะเข้ามาบอกเลย บางคนมาจิ้มให้เลย บางคนถือวิสาสะหยิบแบงค์ที่เราถือเอาไปใส่ตู้ให้ด้วย หรือบางทีเราก็ทำของเราเป็น แต่อาจช้าหน่อย เขาก็ยืนทำเป็นแนะนำ พอตั๋วไหลออกมา เขาก็หยิบตั๋วแล้วยื่นตั๋วให้เรา แล้วเรียกร้องขอทิปส์ (ซะงั้น)

เป็น scam ที่ด้านแบบสุดๆ อย่างงี้ก็ได้หรอ ฉันกดของฉันเอง คุณมายุ่งเอง แล้วขอทิปส์ได้ด้วย นักท่องเที่ยวหลายคน ตัดปัญหาด้วยการให้เงินเล็กๆน้อยๆ แต่ส่วนตัวไม่เห็นด้วยเลยที่จะให้เงินพวกนี้ เพราะเขาจะไปทำแบบนี้กับคนอื่นๆอีก

วิธีลดความเสี่ยง

กรณีถ้าเรายินดีให้อันนี้ก็อีกเรื่องนึงนะ อยากก็ให้ไป ถ้าคิดว่าเขาทำให้เราง่ายขึ้น

แต่ถ้าเราไม่อยากให้ ไม่อยากยุ่งกับคนพวกนี้ ก็ต้องพูดเสียงโหดไปว่า No, I know how to buy it. ทำหน้าเข้มด้วย หรือพูดภาษาไทยใส่ไปเลย แต่น้ำเสียงต้องดุนะ ถ้าอ้อมแอ้มเขาก็จะเกาะไม่ปล่อย

ถ้าคิดว่าไม่อยากพูด ไม่อยากไล่ เราก็เดินไปที่อื่นเอง ยอมเสียเวลาหาตู้ใหม่ หรือถ้ามีเคาร์เตอร์ก็ไปซื้อที่เคาร์เตอร์ก็ได้


1. ขอแบบสร้างสถานการณ์ : ตุ๊กตาเข้ามากอด

ที่รัสเซียจะมีคนใส่ชุดตุ๊กตาเข้ามากอดเยอะเลย ในสถานที่ที่มีนักท่องเที่ยวเยอะๆ วิธีของเขาก็คือใส่ชุดคอสเพล ชุดตุ้กตา ไม่เห็นหน้าเขา พอเด็กๆเห็นแล้วก็อยากเข้าไปกอด

พอมิจฉาชีพเดินเข้ามาอย่างร่าเริง ผายมือพร้อมรับทุกคนเข้าสู่อ้อมกอด พอนักท่องเที่ยวกอด ถ่ายรูปเสร็จ เขาจะถอดหัวออกมาแล้วเรียกร้องเงินทันที

ถ้าเป็นเด็ก เขาก็จะเข้าไปคุยกับคนที่พาเด็กมา ผู้ใหญ่ไม่อยากให้เด็กเห็นภาพการทะเลาะก็จะให้อย่างโดยดี จะได้จบๆ แต่ถ้าเป็นผู้ใหญ่อยู่แล้ว จากตุ้กตาน่ารักกลายเป็นปีศาจถอดหัวเรียกเงินทันที พวกเรายืนดูอยู่พักนึง ก็เห็นว่าทุกคนยอมควักกระเป๋าจ่ายแบบไม่มีปากเสียงเลย

วิธีลดความเสี่ยง

ถ้าอยากถ่าย และพร้อมเสียเงินก็ทำได้ ไม่มีใครว่าอะไรเลย แต่ถ้าไม่อยากเสียเงิน พอเขาวิ่งโผเข้ามาจะกอด เราก็เดินหนีเลย สะบัด อย่าให้เข้ามากอดเด็ดขาด เพราะแม้ว่าเราไม่ได้เข้าไปกอด แต่เขาเข้ามากอดเอง เขาก็ด้านที่จะเรียกเงินได้เหมือนกัน


1. ขอแบบสร้างสถานการณ์ : ยัดอะไรใส่มือ แล้วขอ

เรื่องนี้มีทั่วยุโรป ทั้งการยื่นดอกไม้ ยัดอาหารนก ผู้ข้อมือ เข้ามาแบบยิ้มแป้นๆ My friend, where’re you from? ถ้าเราบอกชื่อประเทศไปแล้วเขารู้จักภาษานั้น เขาก็จะสวัสดีเราด้วยภาษาเราเพื่อสร้างความสนิทสนม แล้วก็ชวนคุยพร้อมกับเอาอะไรยัดใส่มือเราไปด้วย

ระหว่างที่นักท่องเที่ยวมีมารยาทอยากเมคเฟรนด์ก็คุยไป มารู้สึกตัวอีกทีนึง อะไรอยู่ในมือ และ your friend ก็จะกลายเป็นคนหน้าโหดเรียกเงินค่าของที่อยู่ในมือคุณทันที และอย่าคิดว่าจะดิ้นหลุดจากการตามได้นะ สุดท้ายคุณก็ต้องให้เงินอยู่ดี

วิธีลดความเสี่ยง

ใครยื่นอะไรให้ ห้ามรับเด็ดขาด เอามือล้วงกระเป๋า จับของของเราไว้ให้แน่น ไม่มีใครให้อะไรฟรีๆ มีเงินไปเที่ยวได้ อยากได้อะไร หาร้านค้าซื้อเอง ไม่ใช่ซื้อตามลานที่เที่ยวยอดฮิต


1. ขอแบบสร้างสถานการณ์ : ถ่ายนก

ถ่ายนกหน้าแปลก บินไม่ได้ เดินวนเวียนบนพื้น เหตุเกิดที่รัสเซีย จริงๆเคยรู้มาก่อนอยู่แล้วว่าถ่ายรูปพวกนี้จะต้องมีค่าทิปส์ให้คนเลี้ยง เราก็ไม่เคยคิดไปถ่ายอยู่แล้ว แต่ตอนนั้นมันไม่มีคนเลย เหมือนนกพิราบตามธรรมชาติแต่ขนมันแปลกๆ ก็เลยแว้บถ่ายเสี้ยววินาทีเอง ไม่ได้ตั้งกล้องถ่าย คือแบบเดินผ่าน กดถ่าย แล้วเดินต่อ แค่นี้ ไม่ได้หามุมถ่ายเลย

ทันใดนั้นก็มีคนโผล่มาจากไหนไม่รู้ บอกว่ามีค่าถ่ายเอามา เราก็ไม่คุยด้วย รีบเดินหนี เขาก็ตามมาอีก แล้วโวยวายตะโกน money money เราก็ไม่สน รีบเดินต่อ จนเขาก็ไม่ได้ตามมา

วิธีลดความเสี่ยง

ถ้ามีคนยืนเลี้ยงนก วางบนแท่นวางชัดเจน แล้วอยากถ่าย ก็ถ่ายได้ แต่ต้องเข้าใจว่าเขาไม่ได้มายืนกลางแดดร้อนๆฟรีๆ

ถ้าเป็นนก หรืออะไรที่ดูแล้วไม่มีคนเลี้ยงแถวนั้น คือบางทีอาจเป็นสัตว์จากธรรมชาติก็ได้นะ เพราะก็เคยแล้ว มันแปลกในสายตาเรา แต่มันก็ธรรมดาในประเทศเขา แต่ถ้ามันเป็นทริกที่คนล่อให้เราถ่าย เราก็แค่เดินหนี แกล้งพูดภาษาไทย คุณพูดอะไรไม่รู้เรื่อง พร้อมเดินเร็วๆล้วงกระเป๋า จับของไว้ให้ดี


1. ขอแบบสร้างสถานการณ์ : ตีสนิท my friend

มิจฉาชีพจะคุยภาษาอังกฤษคล่อง ในขณะที่คนท้องถิ่นส่วนใหญ่พูดภาษาอังกฤษไม่ได้

เขาจะเริ่มต้นถามว่า มาจากประเทศอะไร ตีสนิท พูดเก่ง ถ้าเห็นเราคุยภาษาอังกฤษได้จะยิ่งเกาะไม่ปล่อย นักท่องเที่ยวมักจะไม่กล้าปฏิเสธ ถามมาก็ตอบไป หรือ อยาก make friend สุดท้ายพาไปร้านขายของที่ระลึก ถ้าเราไม่ซื้อ ก็ทำทีช่วยบอกทาง พาเดินไปรร. สุดท้ายเรียกทิปส์เฉย

วิธีลดความเสี่ยง

ถ้าพร้อมทิปส์ พร้อมคุย อยากคุย อยากถาม ก็ทำตามสบายได้เลย พวกนี้ไม่มีพิษมีภัย แค่อยากได้ค่าคอม และค่าทิปส์

แต่ถ้าไม่อยากเสียเงิน ก็ใช้วิธีพูดภาษาไทย ห้ามพูดภาษาอังกฤษเด็ดขาด No หรือ I don’t know หรือ I don’t speak english ก็ไม่ได้ เพราะจะเป็นการเปิดโอกาสให้เขาถามต่ออีก ถามว่ามาจากประเทศอะไรก็บอกไปว่า “กูไม่บอก” แล้วปล่อยให้เขางงเล่น ระหว่างนั้นก็เดินให้ห่าง

แต่บางครั้งก็อย่าคิดว่าจะสลัดกันง่ายๆ ถ้าสลัดไม่หลุด เราก็ยกมือถือมาถ่ายรูปหน้าเขาไว้ และถ่ายวิดีโอหน้าเขาด้วย หรือจะไลฟ์ไปเลยก็ได้ถ้ามีเน็ต หรือแค่ไลน์หาใครก็ได้ แล้วเราก็พูดๆๆอะไรก็ได้เป็นภาษาไทย

เช่น ตอนนี้เรากำลังอยู่ที่ (พูดชื่อเมือง) กำลังจะไป….. มีผู้ชายคนนี้เขาตามเรามา บลาๆๆๆ แต่ในขณะเดียวกัน ขาต้องเดินหนีด้วยนะ เดินไปพูดไป ไม่ต้องรอให้เขาพูดแทรกได้ ไม่ต้องรอฟังคำถาม พูดมากๆเข้าไว้ ถ่ายวิดีโอไปด้วย พวกนี้จะกลัวกล้อง


2. ขโมย ฉกชิง วิ่งราว : ช่วยยกกระเป๋า

เหตุเกิดระหว่างการต่อรถไฟ ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ตอนนั้นเป็นช่วงโควิดที่ไม่ได้เดินทางประมาณ 1 ปีกว่าๆ พอฉีดวัคซีนเข็มแรกไม่กี่วัน ก็บินเลย ถึงสวิตเซอร์แลนด์แค่ไม่กี่วัน ก็ปิดไม่ให้คนนอกอียูเข้าอีกแม้จะฉีดวัคซีนแล้วก็ตาม แต่เราหลุดเข้าไปได้พอดี

สกิลต่างๆหายหมด ความรู้สึกเหมือนมือใหม่ ไม่ป้องกัน ไม่ระวัง กระเป๋าลากคนละใบ เป้คนละใบ รักษาของใครของมัน แต่อ๊อบดันลืมเก็บเงิน แล้วนำไปใส่กระเป๋าห้อยคอที่ห้อยต่องแต่ง แถมไม่ได้รูดซิปด้วย คือเชิญชวนชิมมากเลย

ในขณะที่ลากกระเป๋าขึ้นรถไฟ ก็มีใครก็ไม่รู้มายกกระเป๋าของจี๊ขึ้นชั้นวางข้างบนที่นั่ง ซึ่งเราไม่ได้ขอ อยู่ดีๆก็มาจับยกเลย จี๊ก็ตกใจ เฮ้ย…No No แต่จี๊ไม่ได้ใส่เงินอะไร มีแต่กล้องโกโปรเล็กๆ กับมือถือที่ติดตัวแบบยากที่จะฉก

แต่ในเสี้ยววินาทีเท่านั้น อ๊อบที่ลากกระเป๋าตามจี๊เข้ามา ก็ถูกคนเดิมทำท่าจะยกกระเป๋าอีก ยกไหวได้ไงไม่รู้นะ มันหนักมากแต่เขายกแบบนักยกน้ำหนักขึ้นเหนือหัวเลย จี๊ก็เฮ้ย…จะทำอะไร ไม่ต้องๆ แต่เพียงเสี้ยววินาที เขาก็วิ่งออกจากรถไฟไป

จี๊กับอ๊อบที่กำลังมึนๆงงๆว่าขึ้นถูกคันมั้ย นั่งตรงไหนเพราะที่เต็มไปหมด เดินหาที่นั่งนานมากๆ พอได้ที่นั่ง ก็กำลังจะหยิบตั๋วเตรียมให้คนตรวจตั๋วตรวจ อ้าว…เฮ้ย มันหายไปทั้งซองเลย คือกระเป๋าห้อยคอมันอยู่แน่แหล่ะ แต่ไอ้ซองที่ใส่พวกบัตร กับเงินยูโรหลักหมื่น อยู่ในนั้น

นี่คือความช็อคแบบว่าทำไมเราโง่และประมาทอย่างนี้ ทั้งๆที่เคยเตือนคนอื่น เคยเก็บแยกที่ เคยระวังอย่างดีในชีวิตการท่องเที่ยวก่อนโควิด ทำไมเรากลายเป็นคนไร้เดียงสาขนาดนี้

ก็เพียงเพราะเราคิดไปเองว่า นี่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ไง ปลอดภัยไง ลั้นลาได้ไง แต่จริงๆแล้วทุกประเทศที่มีนักท่องเที่ยวเยอะ ก็เหมือนปลาชุกชุม ก็ย่อมมีนักล่าเยอะ

ทีแรกก็คิดในแง่ดี มันอาจจะตกระหว่างทางก็ได้ กว่าจะรู้ตัวว่า และทำใจยอมรับได้ ก็สตั้นไปนาน บัตรเครดิต และเงินหมื่นกว่าบาท(จริงๆเป็นเงินยูโร) หายวับไปทั้งๆที่ผ่านมาแค่ 2 สัปดาห์หลังจากเข้าสวิส และเราก็ตั้งใจจะอยู่ในยุโรป 1 ปี (เชงเก้น90+ออกเชงเก้น180+เชงเก้น90)

วิธีลดความเสี่ยง

อย่าไปโฟกัสที่กระเป๋าเดินทาง แต่ต้องโฟกัสที่ของที่เราถือติดตัว คือบางครั้งก็มีคนช่วยจริงๆนะ แบบกำลังยกกระเป๋าขึ้นบันได ก็มีคนมาช่วยยก แล้วก็ไป พลเมืองดีก็มี

แต่บทเรียนคือ เก็บของมีค่า ทั้งเงิน ทั้งบัตรต่างๆ ให้อยู่ในที่ลึกที่สุด ใบที่จะใช้แน่นอนแยกเก็บไว้ ใบที่ไม่ใช้แน่ๆก็แยกไว้อีกที่นึง เคสนี้ของเราจริงๆป้องกันไม่ยากเลย เพียงแค่รูดซิป แยกเก็บเงินและบัตร ถ้ากระเป๋าคล้องคอก็ใส่ไว้ใต้เสื้อ แต่ตอนนั้นมันเป็นหน้าร้อน ก็เลยไม่อยากเอาใส่ใต้เสื้อ สำคัญคือมิจฉาชีพจะเบี่ยงเบนความสนใจของเราไปที่กระเป๋าใหญ่ แล้วล้วงของติดตัวของเราไป


2. ขโมย ฉกชิง วิ่งราว : ทำเสื้อเราเลอะ

บางครั้งเรากำลังงงๆในการซื้อตั๋วที่ตู้ หรือดูป้าย ก็มีคนเอาขี้นก หรืออะไรแหยะๆมาใส่คอเสื้อเรา หรือป้ายที่เสื้อเรา แล้วโชว์ไอ้ที่เลอะมือเขาให้เราดู ประมาณว่าเป็นพลเมืองดี ช่วยบอกว่าเนี่ยะ เสื้อคุณเลอะนะ

ทีนี้ปฏิกิริยาธรรมชาติของเราก็จะตกใจและถอดเสื้อออกมาดู หรือแค่หันเอี้ยวคอไปดู จังหวะนั้นแหล่ะ ของมีค่าของเราไปแล้ว หรือยิ่งถ้าเราถอดเสื้อ ของในเสื้อเราก็อาจไปด้วย

วิธีลดความเสี่ยง

ไม่ว่าจะเกิดอะไร สติต้องมี อย่าเล่นตามบทมิจฉาชีพ เดินหนีออกห่างจากคนนั้นให้เร็วที่สุด หรือแกล้งร้องโวยวายภาษาไทยไปเลย สบถคำหยาบแรงๆ ไอ้…..มรึงมาจับตัวกูได้ไง พร้อมจับกระเป๋า แล้วรีบเดินไปให้ห่างทันที

เหตุการณ์แบบนี้มักเกิดกับคนมาคนเดียว ก็อาจต้องระวังมองหน้ามองหลังเมื่อต้องเพ่งสมาธิกับการดูป้าย หรือกดตู้

แต่ถ้ามากันสองคนขึ้นไป ให้ตกลงกับเพื่อนที่มาด้วยกันว่า ช่วยดูหลังให้ด้วยว่ามีคนมาทำอะไรหรือเปล่า เราจะได้มีสมาธิดูป้าย ดูแผนที่ กดตู้


2. ขโมย ฉกชิง วิ่งราว : แกล้งชน

พวกนี้จะเข้ามาทางข้างหลัง พอแกล้งทำเป็นชน หรือทำของตกใส่เรา ทำให้เราตกใจ พอเราหันไปทางที่เขาชน ก็จะมีอีกคนล้วงของเราไปแล้ว

วิธีลดความเสี่ยง

อันนี้ยากหน่อย เพราะใครจะไปรู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น แต่ก็มักจะเกิดในที่แออัด ถ้าจะให้มองหลังมองซ้ายมองขวาตลอดเวลาก็คงเที่ยวไม่สนุก และดูเหมือนคนบ้ามากกว่า

เท่าที่ทำได้คือ เก็บของในที่ปลอดภัย ถ้ามือถือ กับกล้อง ต้องใช้ตลอด ก็ระวังเฉพาะสองอันนั้น

ห้อยคอไม่ค่อยแนะนำเพราะมันเด่นมาก เหมือนห้อยยั่วโขมยมากกว่า ถ้าห้อยก็ต้องใส่ไว้ใต้เสื้อ


2. ขโมย ฉกชิง วิ่งราว : ยืนใกล้ทางออกประตูรถไฟ

สถานการณ์ที่มักถูกโขมยของมีค่ามักอยู่ในที่ผู้คนแออัดเบียดกัน ซึ่งก็คือบนรถไฟ รถราง รถบัส หรือสถานีรถไฟ

เหตุการณ์ที่เอื้อต่อมิจฉาชีพคือ รอประตูรถไฟจะปิด ก็ฉกเลยแล้ววิ่งออก ประตูปิดเราก็ตามไปไม่ได้ ยิ่งถ้าเรายืนใกล้ประตูก็ง่ายเขาเลย

พวกนี้อาจมีกลโกงอย่างอื่นร่วมด้วยและทำกันเป็นแก๊งค์ เช่น คนนึงเบียดหน้ามา อีกคนนึงประกบหลัง ทำเป็นว่าก็รถมันแน่น อีกคนแอบบล้วงไปแล้ว

วิธีลดความเสี่ยง

อย่ายืนใกล้ประตู ควรนำกระเป๋ามาสะพายด้านหน้า ถ้าเลี่ยงความแออัดได้ก็ควรเลี่ยง ถ้าเลี่ยงไม่ได้ก็เปิดโหมดสติ และระวังตัวให้สูงสุด


3. กลอุบาย : ขอให้ถ่ายรูปให้

ในสถานที่ท่องเที่ยวยอดฮิตทั้งหลาย เป็นแหล่งทำมาหากินของมิจฉาชีพทั้งนั้น ฉะนั้น ไม่ใช่ที่แห่งการผูกมิตร

ถ้าเราคิดว่าเราดูแลตัวเองได้ และชอบถ่ายรูปให้คนอื่น อยากผูกมิตร ก็ทำไปไม่มีใครว่า ซึ่งก็มีเยอะแยะที่มาเที่ยวคนเดียวก็อยากหาคนถ่ายรูปให้ ก็ไม่แปลก

แต่ถ้าคิดว่าเราไม่อยากเสี่ยง เราไม่มีความสามารถพอที่จะจัดการกับปัญหา ก็ปฏิเสธไป จบ เจอกันแว้บเดียว จะคิดยังไงก็ช่าง จะด่า จะนินทาทีหลัง ก็ไม่เห็นเป็นไร เพื่อแลกกับความปลอดภัยของเราเอง

ความเสี่ยงจากการที่ถ่ายรูปให้คนอื่น คือ เราจับโทรศัพท์/กล้องของเขา จะมีอะไรป้ายไว้หรือเปล่า หรือ ขณะที่ยื่นกลับไปเขาแกล้งรับพลาดทำตก แล้วมาเอาเรื่องเรา เราสู้เขาได้รึป่าว เขาอาจมีเล่ห์เหลี่ยมที่เราคาดไม่ถึง

หรือแม้แต่จะบริสุทธิ์ใจ ไม่ได้คิดร้ายอะไร แค่มาคนเดียวไม่มีคนถ่ายให้ แต่บางคนเรื่องมากเอาท่านั้น ให้ถ่ายตั้งหลายรูป สั่งอย่างกับเราเป็นช่างภาพส่วนตัว ยิ่งเห็นเราเป็นคนเอเชีย เขาจะยิ่งอยากให้เราถ่าย เพราะคนเอเชียขึ้นชื่อว่าชอบถ่ายรูปหามุมถ่ายมากกว่าหาที่เที่ยว มันเสียเวลาเราใช่มั้ย

วิธีลดความเสี่ยง

ปัดมือพร้อมก้าวเท้าเดินต่อไปอย่างไม่ต้องมอง หรือถ้าอยากพูดก็ Sorry, I’m in a hurry. หรือพูดภาษาไทยไปเลย ขอโทษนะเรารีบอยู่ ขณะที่เขากำลังงงว่าเราพูดอะไร เราก็เดินไปไกลแล้ว หรือ อ้างว่า I got covid positive, sorry นะ พร้อมปิดปากไอเบาๆไปทีนึง


3. กลอุบาย : เกมส์บนทางเท้า

เป็นการแสดงต่างๆบนทางเท้า มักจะอยู่ในที่ท่องเที่ยวยอดฮิต เช่น เกมส์ทายไพ่ เกมส์เปิดถ้วย ให้ทายอะไรซักอย่าง เหมือนการพนันง่ายๆ อาจจะมีหน้าม้าทำทีเป็นนักท่องเที่ยวเข้าไปลองเล่น แล้วเล่นให้เราเห็นว่าได้เงินจริงๆแฮะ

ถ้าเราเข้าไปลอง เขาจะล่อให้เราได้เงินครั้งแรกๆ แล้วถ้าเราจะเลิกเขาก็จะยื้อให้ลองต่อ อาจมีหน้าม้าคอยเชียร์ พร้อมกันไม่ให้ออก ครั้งถัดๆไปนี่แหล่ะ ทายยังไงก็โดนกิน

วิธีลดความเสี่ยง

จำไว้ว่า เขาไม่ได้ว่างมาเล่นฟรีๆ เล่นเอามัน พวกนี้ทำเป็นอาชีพ ทำเป็นแก๊งค์ เราไม่มีทางเอาชนะเล่ห์เหลี่ยมกลโกงเขาได้

ถ้าอยากเล่นสนุกๆ พร้อมเสีย ก็ตามสบายได้เลย หรือ ถ้าอยากดู ก็ดูได้ แต่ระวังกระเป๋า และระวังเผลอใจด้วย

แต่ถ้าไม่อยากเสี่ยง ก็แค่ไม่ดู ไม่เล่น สมัยนี้หาดูในยูทูปมากมาย มีเฉลยทริกด้วย


3. กลอุบาย : แลกเงินข้างถนน

บางประเทศจะมีคนยืนหน้าร้านแลกเงินเลย ทำทีเหมือนว่าเป็นจนท.ต้อนรับ รับแลกเงิน หรือ ถ้าเขาเห็นเรากำลังด้อมๆมองๆจะเข้าร้านแลกเงิน เขาก็จะดักเราไว้เลยว่าจะแลกเงินใช่มั้ย เอาเท่าไหร่ เรทเราถูกกว่าร้านที่คุณจะเข้าแน่นอน พร้อมกับแง้มในเสื้อโชว์เงินฟ่อนๆให้ดู (แต่ไม่เอาออกมา) พอให้เราเห็นว่าเขามีเงินจริงๆ แล้วก็พูดเร็วให้เราไม่ทันคิด ไม่ทันตั้งตัว

จุดขายของเขาก็คือ เรทที่ถูกมากๆ ถูกเว่อร์ๆ จนความโลภบังตา แต่หารู้ไม่ว่า ธนบัตรที่ได้มานั้นไม่ใช่ธนบัตรของประเทศนั้นๆ เช่นที่เมืองปราก ประเทศเช็ก ใช้เงินโครูน่าเช็ก แต่กลับได้เป็นธนบัตรของโรมาเนีย แอลเบเนีย ซึ่งเราเป็นนักท่องเที่ยว เข้ามาวันแรกมักไม่รู้จักหน้าตาของธนบัตรท้องถิ่น

วิธีลดความเสี่ยง

อันนี้ห้ามเด็ดขาดเลย ไม่มีเหตุผลอะไรที่เราต้องแลกเงินกับคนที่ยืนข้างถนน

สมัยก่อนอาจจำเป็นต้องแลกเงิน แต่สมัยนี้ไม่จำเป็นแล้ว อยากได้เงินสด ก็กด ATM ได้ แต่กดน้อยๆ ไม่ต้องเยอะ กดแค่พอใช้

ค่าใช้จ่ายส่วนหนึ่ง ก็ใช้บัตรท่องเที่ยวต่างๆ (Travel card , YouTrip ของธนาคารต่างๆ) เป็นบัตร Visa หรือ Mastercard (ไม่ใช่บัตรเครดิต) เสียค่าบัตรประมาณ 200 บาท ใช้ได้ตลอดชีพ พอได้มาเราก็ใช้แอพของธนาคาร โอนเงินจากบัญชีของเราเข้าบัตร แล้วก็แลกเงินในนั้นได้เลย ถ้าจะใช้รูดซื้อของก็ทำได้เลย หรือจะกดเงินสดก็ทำได้เหมือนกัน(บางตู้)

แนะนำให้ทำบัตรไปหลายใบ หลายธนาคาร เผื่อหาย แล้วแยกเก็บไว้หลายๆที่


4. โดนแฮ็ก : ใช้ wifi สาธารณะ โดนแฮ็กบัตรเครดิต

การใช้สัญญาณ wifi ของสาธารณะ เช่น ร้านกาแฟ สนามบิน ห้าง ฯลฯ มีความเสี่ยงสูงที่ข้อมูลของเราจะถูกแฮ็ก

จากการเที่ยวยุโรปครั้งแรกของพวกเรา มีเหตุการณ์ที่ทำให้เราต้องหนีออกจากที่พัก (ที่พักแย่มาก) ก็เลยจะหาจองโรงแรมใหม่ แต่เราไม่มีซิมการ์ด และอยากประหยัดก็เลยใช้สัญญาณ free-wifi จากสถานีรถไฟหลักในประเทศเยอรมนี

หลังจากกดจองโรงแรมด้วยการตัดบัตรเครดิตไปตามปกติ เข้าพักเรียบร้อย หลายวันถัดมา ก็มี sms แจ้งว่าคุณมียอดตัดบัตรเครดิตในการจองที่พักที่ประเทศ…(อื่นๆ) เป็นจำนวนเงินหลายหมื่น

แต่จริงๆเราไม่ได้ใช้ เมื่อรู้ตัวว่าโดนแฮ็ก ก็แจ้งอายัดบัตรทันที โชคดีที่เรายังมีบัตรอื่นใช้อยู่

วิธีลดความเสี่ยง

จริงๆพวกเราใช้ wifi สาธารณะบ่อยนะ โดยเฉพาะที่สนามบิน แต่ใช้แบบเช็คไลน์ เช็คอีเมล หาข้อมูลบางอย่าง นิดๆหน่อยๆ แต่จะไม่ทำธุรกรรมทางการเงินใดๆเด็ดขาด เช่น จองที่พัก จองตั๋วเครื่องบิน ซื้อของออนไลน์

แต่ถ้าเลี่ยงได้ก็เลี่ยงไปเลยก็ดีกว่า ไม่ใช้ wifi สาธารณะ และควรซื้อซิมส่วนตัว

เคยโดนแฮ็ก airbnb แฮ็กบัตรเครดิต อ่านวิธีแก้ที่นี่


ตู้ ATM ที่เรทแย่ ไม่ใช่ตู้ของธนาคาร และ มีปุ่มหลอก scam

4. โดนแฮ็ก : กดเอทีเอ็ม

กดเอทีเอ็ม ก็มีความเสี่ยงเหมือนกัน ความเสี่ยงมี 2 อย่างหลักๆคือ

ตู้เขียนคำว่า ATM ตัวใหญ่มาก ตู้สีสันโดดเด่น ตั้งอยู่ที่โดดเด่น บางตู้เขียนว่า 0% commission

เนื่องจากนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ กดเงินแล้วก็ไม่ได้เช็ค ไม่ได้คำนวนว่าคิดเป็นเงินไทยตัดไปเท่าไหร่ สรุปว่าไม่เสียค่าคอม แต่เรทแย่มากๆ เช่น เราจะกดเอาเงิน 100 ยูโรออกมา ปกติเราจะโดนตัดเงินไปประมาณ 3900 บาท แต่โดนตัดไปรวมๆแล้ว 4xxx บาท

จากรูปด้านบน จะมีปุ่มหลอกด้วย คือพอใส่บัตร ใส่ตัวเลขที่เราต้องการเงินสด จากนั้นจะมีปุ่ม 2 ปุ่ม ให้เลือกคือ Decline Conversion (ปฏิเสธการแปลงค่าเงิน) และ Accept Conversion (ยอมรับการแปลงค่าเงิน)

จริงๆถ้ามีตู้ธนาคารท้องถิ่น ก็ควรเลือกกดขอธนาคารท้องถิ่นดีกว่า แต่ถ้าไม่มีทางเลือก ถ้าจำเป็นต้องกดตู้แบบนี้ (euronet) ก็ต้องเลือก “Decline Conversion”

เพราะถ้าเราเลือก Accept Conversion ถือเป็นการยินยอมให้ตัดเงินกินเปล่าซึ่งแพงมากๆ มันเป็นปุ่มหลอกให้คนกดยอมรับ ถ้าเรายอมรับก็เอาเรื่องไม่ได้ แต่ถ้าไม่ยอมรับ ก็เสียแค่ค่าธรรมเนียม และก็กดเงินได้อยู่ดี

อันนี้วิดีโออธิบายเรื่อง ATM scam

ความเสี่ยงอีกอันนึงก็คือ ที่ตู้มีเครื่องดูดข้อมูลบัตร หรือดูดบัตรเราไปเลย คือกดแล้วเงินไม่ออก บัตรไม่ออก แต่มันได้รหัสเราไปแล้ว

วิธีลดความเสี่ยง

เลือกตู้ ATM ที่เป็นของธนาคาร มีชื่อธนาคาร มักจะอยู่หน้าธนาคาร หรือในธนาคาร ไม่มีคำเชิญชวน ไม่มีคำว่า ATM ตัวโต ไม่ค่อยดึงดูด ถ้าดูไม่ออก ก็สังเกตุว่าคนท้องถิ่นกดอันไหน เราก็กดอันนั้น

ก่อนกด ให้สังเกตุที่ใส่บัตรว่ามีสิ่งแปลกปลอมมั้ย (อันนี้อาจยากหน่อย แต่ก็ลองสังเกตุดู) ลองค้นคำว่า ATM skimming ค้นหารูปดูได้


เหตุการณ์บางอย่างที่ยังไม่รู้ว่า มิจ หรือ มิตร

ถามว่าซื้อกล้องที่ไหน ยี่ห้ออะไร

อันนี้เจอที่โรมาเนีย ซึ่งก็ยังสรุปไม่ได้ว่าหลอกลวงมั้ย เพราะก็ไม่ได้โดนฉกอะไร แต่ยังสงสัยอยู่ว่าถามจริงหรือถามหลอก

เหตุเกิดเมื่อกำลังรอเมโทรอยู่ในสถานีหลักใจกลางเมืองบูคาเรสต์ จี๊ถ่ายวิดีโอทำยูทูป ก็ถ่ายไปปกติ พอเก็บกล้อง ก็มีผู้ชายหน้าเฉย ไม่ได้ยิ้มอะไร เข้ามาถามว่า คุณพูดภาษาอังกฤษมั้ย เราก็บอกว่านิดหน่อย ทำไมหรอ

เขาบอกว่า คุณซื้อกล้องที่ไหน จี๊ก็ตอบว่า ก็ซื้อมาจากประเทศของฉัน แล้วก็ถามกลับว่าทำไมหรอ

เห็นมันเล็กดี ยี่ห้ออะไร ช่วยเขียนชื่อให้หน่อยได้มั้ย พร้อมยื่นโทรศัพท์มา

แต่จี๊ไม่อยากจับโทรศัพท์เขา ก็เลยบอกว่าคุณก็เขียนเองได้ แล้วบอกไปว่า Gopro

ปรากฎว่าเขาไม่รู้จัก เขียนไม่ถูก ก็ช่วยกันสะกดอยู่นั่นแหล่ะ แต่มือก็จับมือถือกับกล้องไว้ใต้กระเป๋าเสื้อกันหนาว (ในใจก็คิด คนอะไรไม่รู้จัก Gopro แต่ก็อาจไม่แปลกก็ได้ เพราะเดินทุกห้าง ยังไม่เห็นขายกล้องเลยซักร้าน)

สุดท้าย จี๊ก็ลด guard ลงเฉยเลย แล้วคิดในใจว่าอย่าขโมยเลยมันเก่าแล้ว และพูดไปว่า มันเก่าแล้ว นี่ Gopro 7 เดี๋ยวนี้เขามีถึง 12 แล้ว พร้อมโชว์กล้องที่มีเลข 7 ให้ดู (แน่ะ เผื่อให้ดูว่ามันเก่าเขรอะมาก เอาไปก็ไม่คุ้มหรอกได้ไม่กี่ตังค์)

แล้วก็แยกย้ายไป ไม่มีอะไรหาย

วิธีลดความเสี่ยง

จริงๆมันไม่ได้แปลกอะไรในการที่มีคนเขามาคุย แต่สิ่งที่แปลกคือท่าทางในการถาม แต่คนที่นี่ก็อาจมีบุคลิกแบบนี้ก็ได้มั้ง แต่ไม่ว่าจะหลอกหรือไม่ได้หลอก ก็คุยเท่าที่อยากคุย

คอยสังเกตุระวังของของเรา ดีที่สุดคือพกให้น้อยที่สุด แต่กล้องกับมือถือเราจำเป็นต้องใช้บ่อยจริงๆ ก็ต้องมีสติกับของสองอย่างนี้


เข้ามาขอคุยด้วย บอกว่าอยากฝึกภาษาอังกฤษ

อันนี้ไม่ได้ฟันธงว่าเป็น scam นะ เป็นแค่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับตัวพวกเราที่ตุรกี ตอนนั้นกำลังขึ้นเรือในอิสตันบูล แล้วก็มีหนุ่มหน้าตาดีเข้ามาบอกว่า คุณพูดภาษาอังกฤษมั้ย เราก็บอกว่า ก็ได้นิดหน่อย เขาก็บอกว่าเดี๋ยวเขาจะเลี้ยงชาซักแก้ว คุยกันระหว่างล่องเรือ

เราก็อึกอักเพราะเราอยากดูวิว แต่ก็อยากคุยด้วย (หน้าตามีการศึกษา) แต่ก็ลังเลเพราะเราก็พูดภาษาอังกฤษไม่ค่อยได้ ก็เลยบอกไปว่า เราพูดภาษาอังกฤษได้แค่นิดหน่อย ทำไมคุณจะอยากคุยกับเรา นั่งคุยกันได้นะ แต่คุณไม่ต้องเลี้ยงชาเราหรอก เราอิ่มแล้ว (จริงๆคือกลัวปวดปัสสาวะ)

เขาก็บอกว่า ไม่เป็นไร ผมเป็นนักเรียนแพทย์ แล้วก็โชว์หนังสือหนาเตอะให้ดู แล้วก็คุยไปตามปกติ แล้วก็พาไปดูวิว ชี้ไปตรงนั้น เล่าประวัติตำนาน สุดท้ายก็ไม่ได้มีอะไร แต่ทิ้งให้เรางงๆจนถึงทุกวันนี้ว่า นี่คือจริงหรือหลอก

วิธีลดความเสี่ยง

ถ้าคิดว่าดูแลตัวเองได้ ก็คุยได้ แค่รักษาของ และไม่ดื่มไม่กินอะไรที่คนแปลกหน้าให้

ถ้าคิดว่าไม่อยากเสี่ยง ไม่อยากคุย ก็แค่ขอตัว ขอโทษ ไม่สะดวก Very sorry, I feel not so good today.


วิธีรักษาความปลอดภัยส่วนตัว

พวกเราเดินทางกัน 2 คน ส่วนตัวจี๊มีหน้าที่ถ่าย ดูแผนที่ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ต้องรักษาคือมีแค่กล้องกับมือถือ ส่วนอ๊อบมีหน้าที่แบกและจ่าย เพราะฉะนั้นสิ่งที่ต้องรักษาคือ บัตร เงิน และของอื่นๆ

จี๊ถืออะไรตอนออกเที่ยว

จี๊จะถือให้น้อยที่สุด คือมีแค่กล้องกับมือถือ เพราะแค่กล้อง กับมือถือแค่สองอย่าง ก็ลำบากแล้ว เพราะต้องหยิบเอาออกแทบจะตลอดเวลา

ถ้าเป็นหน้าร้อน ใส่เสื้อตัวเดียว ก็จะใช้กระเป๋าแบบพาดสะพายขวาง ให้ตัวกระเป๋าและซิปมันอยู่ที่หน้าออกตลอดเวลา เลือกกระเป๋าที่เล็กที่สุด เพราะใส่แค่กล้องโกโปร (ไม่มีอุปกรณ์เสริมใดๆ) กับมือถือ

ถ้าเป็นหน้าหนาว จะมีเสื้อคลุมที่มีกระเป๋าสองข้าง ก็จะใส่มือถือและกล้องในนั้นเลย ไม่สะพายกระเป๋า

อ๊อบถืออะไรตอนออกเที่ยว

อ๊อบจะสะพายเป้ ที่มีช่องเยอะๆ มีที่ซ่อนของ ของสำคัญที่สุดคือ บัตรเครดิต และ travel card จะมีประมาณ 4 ใบ (แยกเป็น 2 ใบไว้ที่พัก อีก 2 ใบ เอาออกมาด้วย เจ้าสองใบนี้จะแยกเก็บคนละที่ ใบหนึ่งไว้ช่องนึง อีกใบนึงไว้อีกช่องนึง

ส่วนเงินสดของท้องถิ่น พกติดตัวแค่เล็กน้อยพอใช้จ่ายนิดหน่อย แยกเก็บอีกช่องนึง ที่เหลือเก็บไว้ที่พัก

แล้วเอาถุงก้อปแก้ปมีเสียงโปะไว้ ถ้ามีการล้วงจะได้พอได้ยิน

สรุปวิธีรักษาความปลอดภัยส่วนตัว

  • เอาของมีค่าออกไปให้น้อยที่สุด ไม่ใส่เครื่องประดับราคาแพง แต่งตัวให้เหมือนชาวบ้านปกติ
  • ไม่เก็บของมีค่าไว้ในกระเป๋าลาก
  • เก็บของมีค่าไว้กับตัว แต่แยกช่อง แบ่งที่เก็บ ไม่ใส่ซองรวมกัน ไม่ใส่กระเป๋าเล็กใบเดียว
  • เมคเฟรนด์ได้ ถ้าคิดว่าตัวเองดูแลตัวเองได้ ถ้าคิดว่าตัวเองยังไม่พร้อมก็ดูแลตัวเองให้ได้ก่อน

พร้อมเที่ยว ต้องพร้อมเสี่ยง

จำไว้ว่าเราไม่มีทางตามเล่ห์เหลี่ยมพวกมิจฉาชีพทันแน่นอน ต่อให้ป้องกันยังไง ก็ยังมีโอกาสโดนได้

พวกมิจฉาชีพจะมีมุกนับพันที่เราตามไม่ทันอีกมากมาย โดยเฉพาะคนที่เพิ่งมาแรกๆ ทุกอย่างจะมึนไปหมด ไม่คุ้นเคย ตาลาย หลงทาง ต้องคิดหลายอย่าง ระวังตัวก็ต้องระวัง

เราไม่มีทางรู้ตั้งแต่ครั้งแรกที่เที่ยวได้ว่าเราควรต้องทำยังไง ซื้อกระเป๋าแบบไหน เก็บของยังไง จนกว่าเราจะได้ออกเที่ยว และปรับเปลี่ยนได้เองตามสถานการณ์ และความชอบส่วนตัว

ต่อให้เดินทางบ่อยแค่ไหน ต่อให้ระวังแค่ไหน ต่อให้เชี่ยวชาญยังไง ต้องมีโดน มีพลาดบ้าง

แต่ความผิดพลาดคือบทเรียน การท่องเที่ยว การเดินทาง คือการออกไปผิดพลาด ออกไปสนุก ออกไปเรียนรู้ ฉะนั้นคิดซะว่า ทุกความผิดพลาดคือการเรียนรู้ หาประสบการณ์ เป็นค่าเล่าเรียน

เราจ่ายค่าเรียนในโรงเรียนมากกว่าซะอีก ยังจ่ายได้ การออกมาเจอสถานการณ์จริง โลกแห่งความเป็นจริง ก็เหมือนการเรียนภาคปฏิบัติที่ไม่รู้จบ

อย่าให้ความกลัวมันรั้งเราไม่ให้ออกไปดูโลกกว้าง เสียเงินค่าเที่ยว ยังมากกว่าโดนขโมย รักษาร่างกายของเราไว้ได้ และได้เที่ยวต่อ ก็ถือว่าคุ้มแล้ว


เพื่อนๆสามารถดูรีวิวการเดินทางของ GoNoGuide ได้ที่ www.gonoguide.com/go


สวัสดีค่ะ GoNoGuide มีเป้าหมายที่จะให้ข้อมูลท่องเที่ยวและวีซ่า อย่างเต็มที่ในทุกเรื่องที่เรารู้ เพื่อนๆที่ต้องการสนับสนุนเรา สามารถทำได้ดังนี้

  • เลือกบริการที่ต้องการสนับสนุนเรา
  • GoNoGuide จะได้รับค่าคอมมิชชั่นเล็กๆน้อยๆ โดยที่เพื่อนๆไม่ต้องจ่ายอะไรเพิ่ม สำหรับลิงค์แนะนำโรงแรม เครื่องบิน และประกันต่างๆ
  • กดติดตามช่อง Youtube และ Facebook GoNoGuide

ขอขอบคุณที่สละเวลาอ่านค่ะ


ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.