Fushimi Inari Shrine
Fushimi Inari Shrine ศาลเจ้าฟุชิมิ อินาริ (伏見稲荷大社 / Fushimi Inari Taisha)
โทริอิ(torii)สีแดงเรียงยาวสุดสายตา น่าจะเป็นภาพที่เราคุ้นตา แต่มีคนจำนวนไม่มากนักที่รู้ว่าภาพนั้นคือศาลเจ้าแห่งหนึ่งในเกียวโตที่ชื่อ ศาลเจ้าฟุชิมิ อินาริ
ที่นี่สามารถมาได้ทุกฤดู แต่จะสวยงามที่สุดในช่วงใบไม้แดง และน่าสนใจที่สุดช่วงปีใหม่
ศาลเจ้าที่เป็นที่นิยมไปสักการะในวันขึ้นปีใหม่ของเกียวโต คือศาลเจ้าฟูชิมิ อินาริ และศาลเจ้ายาซากะ ((八坂神社 / Yasaka Jinja) เฉพาะที่ศาลเจ้าฟูชิมิ อินาริ แต่ละปีในวันขึ้นปีใหม่มีผู้มาสักการะกว่าสองล้านคน นับว่าจำนวนมากที่สุดในภูมิภาคตะวันตกของญี่ปุ่น
ช่วงเวลาของวันที่เหมาะกับการมาสักการะคือช่วงเย็นที่พระอาทิตย์ใกล้ตก สามารถมองเห็นวิวเมืองยามเย็นได้จากจุดชมวิวบนเขาที่ไม่พลุกพล่าน สวยงามและทำให้รู้สึกสดชื่น
เทพที่สถิตย์ที่นี่เรียกรวมว่า เทพอินาริ (稲荷大神 / Inari Kami) ซึ่งที่จริงแล้วประกอบด้วยเทพห้าองค์ คือ
เทพอุคะ โนะ มิทามะ (Uka no mitama no okami)
เทพซะตะฮิโกะ (Satahiko no okami)
เทพโอมิยะ โนะ เมะ(Omiya no me no okami)
เทพทะนะคะ (Tanaka no okami)
เทพชิ (Shi no okami)
สามองค์แรกมีตั้งแต่แรกเริ่ม ส่วนอีกสององค์หลังเพิ่มเติมมาช่วงปี ค.ศ.1266 โดยมีเทพสูงสุดในกลุ่มคือเทพอุคะ โนะ มิทามะ
ประวัดิ Fushimi Inari Shrine
เอกลักษณ์ของฟุชิมิ อินาริ คือ โทริอิ(torii)สีแดง ที่เหมือนประตูเสาเป็นสัญลักษณ์ของศาลเจ้า นับพันนับหมื่นต้น และจิ้งจอก จนบางทีก็เรียกศาลเจ้าแบบนี้ง่ายๆว่า ศาลเจ้าจิ้งจอก
ศาลเจ้าอินาริในญี่ปุ่นมีกว่า 4 หมื่นแห่ง แต่ที่เกียวโตถือว่าใหญ่ที่สุด และเป็นศาลเจ้าหลักของศาลเจ้าอินาริทั้งหลาย
ฉากหนึ่งในหนังเรื่องเกอิชา ที่นางเอกวิ่งผ่านโทริอิมากมายไปขอพรก็คือโทริอิของที่นี่นั่นเอง (แต่จุดที่ไปยืนขอพรในเรื่องไม่ใช่ของศาลเจ้านี้)
ศาลเจ้าถูกสร้างในช่วงคริสศตวรรษที่ 8 ตำนานเล่าว่าคนในตระกูลชาวเกาหลีที่อพยพมา ใช้แป้งโมจิเป็นเป้าในการซ้อมยิงธนู แต่เมื่อศรเข้าเป้า แป้งโมจิกลับกลายเป็นพิราบขาวแล้วบินมายังยอดของภูเขา ก่อนจะกลายร่างเป็นต้นข้าว
ชื่ออินาริ มาจากคำว่า อิเนะ (稲 / ine) และนาริ (成り / nari) ที่แปลว่าการเพาะปลูกข้าว ดังว่า ตระกูลฮาตะจึงได้สร้างศาลเจ้าขึ้นที่เขานี้ เพื่อสักการะสามเทพคือ
เทพแห่งข้าว อุคะโนะมิทามะ
เทพแห่งน้ำ โอมิยะโนะเมะ
เทพแห่งผืนดิน ซะตะฮิโกะ
และต่อมาเมื่อมีการย้ายเมืองหลวงมายังเกียวโตก็ได้บริจาคพื้นที่ ที่ถือครองให้กับราชวงศ์ญี่ปุ่น
ส่วนสาเหตุที่ได้ชื่อว่าเป็น “Taisha” ซึ่งใช้เรียกศาลเจ้าใหญ่ที่มีความสำคัญ ก็เนื่องจากมีความเกี่ยวข้องกับวัด โท-จิ (東寺 / Tou-ji) วัดประจำเมืองเกียวโต ที่มีพระคุณเจ้าคูไค ผู้ก่อตั้งนิกายชินกอน (ซึ่งองค์จักรพรรดิในสมัยนั้นให้การสนับสนุน) เป็นเจ้าอาวาสคนแรกของวัด
ตำนานคูไค
ตำนานเกี่ยวกับพระคูไคมีว่า ท่านได้พบชายแก่เดินแบกถุงข้าวอยู่บนเขาอินาริ และท่านก็ตระหนักว่า ที่เห็นไม่ใช่คนธรรมดา แต่เป็นคือเทพเจ้าแห่งธัญญาหาร การที่ท่านตระหนักได้ว่าคนที่พบระหว่างทาง ไม่ใช่ชายแก่ธรรมดา ทำให้พระคูไคเองได้รับการสักการะไปด้วย แม้ว่าจะเป็นพระในพุทธศาสนา (การบูชาเทพอินาริเป็นความเชื่อของชินโต)
บนเขาอินาริเอง ก็มีหลายๆจุดที่เราจะได้เห็นการสักการะพระคูไค ไม้ที่นำมาใช้สร้างวัดโท-จิ ก็นำมาจากบนภูเขาอินาริ และท่านคูไคได้อัญเชิญเทพประจำฟุชิมิ อินาริ ให้เป็นเทพผู้ปกปักษ์วัดโท-จิ ตั้งแต่นั้นมาวัดโท-จิและศาลเจ้าอินาริ จึงมีความเกี่ยวข้องกันอย่างใกล้ชิด
อาคารหลักของศาลเจ้ามีขนาดใหญ่มาก มีการประกอบพิธีสำหรับเด็กทารกและพิธีอื่นๆ (ยกเว้นพิธีแต่งงาน)
เช่นเดียวกับศาลเจ้าอื่นๆ ที่จะมีการโยนเหรียญ สั่นกระดิ่ง และไหว้ขอพรเมื่อไปสักการะ แต่สำหรับผู้ที่จริงจังแล้ว การมาสักการะศาลเจ้าฟุชิมิ อินาริ คือการเดินขึ้นไปยังยอดเขาและขอพรกับทุกศาลเจ้ารายทางไปจนถึงยอด (หยอดเหรียญใส่กล่อง หรือจุดเทียน หรือถวายโทริอิจิ๋วไปด้วย) ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 1.5 – 2 ชั่วโมง
พุทธหรือชินโตมีสถานที่ต่างกันอย่างไร
มีวิธีการสังเกตจากชื่อสถานที่ว่า ที่ใดเป็นพุทธหรือชินโต ให้ดูที่ส่วนลงท้าย
– ji, -dera, -in, -do ใช่สำหรับวัด
– Jinja ศาลเจ้า
– Taisha ศาลเจ้าขนาดใหญ่
– Jingu ศาลเจ้าขนาดใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับราชวงศ์
– Tenmangu ศาลเจ้าที่สักการะ Michizane นักวิชาการในสมัยเฮอันที่ได้รับการยกย่องเป็นเทพแห่งการศึกษาหลังจากเสียชีวิตไปแล้ว
ทำไมนึกถึง Fushimi Inari ต้องนึกถึงจิ้งจอก?
ตำนานเกี่ยวกับต้นกำเนิดของการสักการะจิ้งจอกมีหลายตำนาน ยุคแรกของชินโตคือการเคารพธรรมชาติ โดยยังไม่มีสัญลักษณ์ชัดเจน คือไม่มีรูปเคารพ ไม่มีหิน แต่สักการระธรรมชาติที่ตัวของมันเอง แล้วก็มีการทำสัญลักษณ์แบ่งเขตให้ อาจจะเป็นเอาเชือกมาล้อม เอาโทริอิมาวาง แบ่งเขตของคนปกติกับเขตของเทพ
เดิมเชื่อว่าเทพอินาริอยู่บนยอดเขา และเมื่อถึงฤดูใบไม้ผลิ ก็จะขี่ม้าลงที่ไร่นาของชาวบ้าน เพื่อบันดาลพรให้การ เพาะปลูกเป็นไปด้วยดี โดยการเดินทางนั้นมีจิ้งจอกนำทาง
อีกตำนานหนึ่งเล่าว่า มีจิ้งจอกคู่หนึ่งแวะเวียนมาที่ศาลเจ้าบ่อยมาก จนชาวบ้านเชื่อกันว่าน่าจะเป็นผู้ส่งสารของเทพเจ้า จึงทำการสักการะจิ้งจอกด้วย ตำนานไม่ได้มีแค่สอง แต่มีอีกเยอะค่ะ
อีกตำนานเล่าว่า มีการเชื่อมโยงจิ้งจอกเข้ากับความอุดมสมบูรณ์ เพราะเคยมีจิ้งจอกคู่หนึ่งที่ชอบมาวิ่งเล่นในที่นาของชาวบ้าน เมื่อย่างเข้าฤดูเก็บเกี่ยวมันก็ออกลูก ซึ่งหมายถึงความงอกงาม ความอุดมสมบูรณ์ และด้วยความที่เทพอินาริคือเทพแห่งความอุดมสมบูรณ์ทางการเกษตรอยู่แล้ว จึงเข้ากันได้พอดีกับการนำจิ้งจอกมาเป็นตัวแทน
โดยปกติที่ทางเข้าศาลเจ้าโดยทั่วไป สองข้างทางเดินจะมีรูปสลัก สิงห์ (狛犬・胡麻犬 / Komainu / Lion-dog) อยู่ เป็นสัญลักษณ์ของการปกป้องพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ แต่ที่นี่ใช้เป็นรูปสลักจิ้งจอกแทน โดยมีด้วยกันสองตัวซ้าย-ขวา
ตัวหนึ่งจะคาบวัตถุรูปทรงกระบอกไว้ในปาก ซึ่งหมายถึงกุญแจสำหรับยุ้งฉางเก็บข้าว
อีกตัวหนึ่งมีลูกแก้วกลม ([ほしのたま / Hoshi no tama / Star ball) ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ถึงเทพแห่งธัญญาหาร ปัจจุบันยังไม่ทราบว่าตัวไหนเป็นตัว ผู้หรือตัวเมีย
ระยะเวลาในการเดินขึ้นเขา
อาคาร Honden → 10 min → โอคุโนะอิน → 10 min → บึงน้ำ → 10 min → ทางสี่แยก → เดินวนรอบเขา (เขาอินาริมีสามยอดค่ะ) ประมาณ 1 ชั่วโมง → ทางสี่แยก → 30 min → อาคาร Honden → 1 min → สถานี JR อินาริ
ผ่านประตูหลักเข้าไป จะถึงทางแยกสองทางที่เต็มไปด้วยโทริอิ ยาวประมาณเกือบร้อยเมตร มีชื่อเรียกว่า เซมบง โทริอิ ( Senbon Torii / โทริอิพันต้น) บริเวณนี้เป็นจุดที่มีโทริอิหนาแน่นที่สุด และเป็นจุดยอดนิยมในการถ่ายภาพ
ทางแยกสองทางไปสิ้นสุดที่ที่เดียวกันคือ โอคุโนะอิน (Okunoin) มีส่วนสำนักงานของศาลเจ้า ที่มีขายเครื่องรางและเอมะ(กระดานขอพร)
เชื่อกันว่าหากกลั้นหายใจ แล้ววิ่งไปถึงสุดทางของเซมบงโทริอิได้ พรที่ขอไว้จะสมหวัง
บริเวณโอคุโนะอินมี หินโอโมะคารุ-อิชิ (Omokaru-ishi / หินหนัก-เบา) คือหินกลมๆที่ตั้งอยู่บนโคมหินสองอัน เป็นประเพณีที่ทำกันเฉพาะในความเชื่อ ชินโตแบบอินาริเท่านั้น (พบที่ศาลเจ้าอินาริที่อื่นด้วย)
เชื่อว่า ก่อนยกให้ตั้งคำถามไว้ในใจ ถ้ายกแล้วรู้สึกเบากว่าที่ใจคิด คำตอบจะเป็นไปในทางที่ดี ชีวิตจะไปได้สวยและพรสมปรารถนา (ก่อนลองยกให้ใส่เหรียญทำบุญในกล่องใกล้ๆกันด้วยนะคะ)
ด้านหน้าและด้านหลังของเสาโทริอิจะต่างกัน โดยด้านหลังจะสลักชื่อคนที่ บริจาคและวันที่บริจาคไว้ โดยที่ส่วนตีนเขาต้นโทริอิจะใหญ่กว่าที่อยู่ ด้านบน ทำให้ยิ่งเดินขึ้นไปยิ่งรู้สึกเป็นส่วนตัวและวังเวง
โทริอิต้องมีการสร้างใหม่เรื่อยๆ เพราะผุพังไปตามกาลเวลา ถ้าอยู้ในบริเวณที่ชื้นแฉะก็อาจจะอยู่ได้แค่ 5-7 ปีเท่านั้น แต่ถ้าบริเวณที่ไม่ชื้นนักจะอยู่ได้ประมาณ 20 ปี
โทริอิหินก็มีให้เห็นประปราย ราคาของโทริอิหากจะบริจาคถวาย มีตั้งแต่ประมาณ 4แสนเยนไปจนถึงมากกว่า 1.3 ล้านเยน โดยราคาขึ้นกับขนาดของโทริอิ โทริอิขนาดเล็กที่เอาไว้สำหรับถวายให้แต่ละ ศาลเจ้าย่อยก็มีเห็นได้เรื่อยๆ ตั้งแต่ขนาดเท่าฝ่ามือไปถึงสูงเป็นเมตร ราคา 2,000, 5,000 และ 10,000 เยน
เลี้ยวซ้ายหลังจากถึงโอคุโนอินไป จะเป็นทางเดินขึ้นยอดเขา มีชื่อเรียกว่าโอยามะ-เมะกุริ (お山巡り/ Oyama-meguri) ระยะทางรวม 4 กิโลเมตร และผ่านศาลเจ้าย่อยห้าแห่ง ระหว่างทางมีจุดพักชมวิวและร้านอาหารเป็นระยะ บริเวณหน้าศาลเจ้าย่อยแต่ละแห่ง บ้างก็มีร้านขายของที่ระลึกและของกินเล็กน้อย
เดินขึ้นไปเรื่อยๆประมาณ ⅓ จะถึงบึงน้ำ (Shin-ike) ด้านขวามือมีเสาหินและโต๊ะบูชาดูคล้ายสุสาน แต่ที่จริงแล้วไม่ใช่ แต่เป็นแท่นบูชาหินเรียกว่า โอะทสึกะ (Otsuka stone altars) เริ่มมีการสร้างในสมัยเมจิ ดูคล้ายกับการจัดหินในสวนญี่ปุ่นที่เรียกว่า ซันซอน อิชิ (Sanzon ishi) ซึ่งเป็นตัวแทนของพระพุทธรูปสามองค์ บนแท่นบูชาสลักชื่อของเทพที่สถิตย์ ไว้ เนื่องจากแท่นบูชาเหล่านี้ถูกจัดวางหนาแน่นในบางบริเวณซึ่งออกจะดูรก ร้างวังเวง สำหรับคนไม่คุ้ยเคยอาจจะคิดว่ามันคือสุสานได้ (ตามปกติแล้วชินโตจะไม่ เกี่ยวข้องกับพิธีกรรมหลังความตาย)
เลี้ยวซ้ายจากบึงตรงไปจนทางสามแยก (Mitsu-tsuji) แล้วเลี้ยวขวา จะมีร้านขายไม้เท้าราคาถูก (สำหรับผู้สูงอายุที่ตั้งใจปีนไปถึงยอด) และร้านอาหารที่สามารถนั่งพักชมวิวได้ ตู้กดขายเครื่องดื่มมีให้เห็นเป็นระยะตลอดทาง
แต่หากมาซื้อที่ร้าน จะได้อารมณ์ย้อนยุคหน่อยๆ เพราะเขาจะนำกระป๋องและขวดเครื่องดื่มมาใส่ถังหินแล้วปล่อยน้ำเย็นไหลผ่าน แทนการแช่ตู้เย็น ดูแล้วก็เหมือนย้อนเวลา
ตรงขึ้นไปอีกเล็กน้อย จะเจอทางสี่แยก (Yotsu-tsuji) เป็นจุดที่สามารถมองเห็นภาพเกียวโตทั้งเมืองได้
ระหว่างทางขึ้นยอดเขา มีน้ำตกเล็กๆสองแห่ง ที่อาจจะได้เห็นคนมาทำสมาธิอยู่ใต้สายน้ำเย็นจัดเพื่อฝึกตน ซึ่งว่ากันว่าเป็นเรื่องปกติของคนแถบนี้ แต่นานๆทีเราจึงจะได้เห็น ใกล้ๆกับน้ำตกทั้งสองแห่งมีรูปปั้นของอาจละ (Fudo Myo-o, ภาษาไทยอ่านว่า อา-จะ-ละ) อยู่
เมื่อขึ้นไปถึงศาลเจ้าชั้นบนๆ จะเห็นว่ามีนามบัตรถูกเสียบไว้ตามรอบๆตัวศาลเพื่อแสดงความเคารพ และบอกว่า “ได้มาถึงแล้ว” ยิ่งขึ้นไปสูง ความหนาแน่นของนามบัตรก็ลดลงเรื่อยๆ
ช่วงเดินกลับลงมาอาจจะลองแวะไปอีกทางออกหนึ่ง จะเห็นว่ามีวัดเล็กๆหลายแห่งที่สักการะพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร (Kannon Bosatsu) และพระกษิติครรภมหาโพธิสัตว์ (Jizou Bosatsu) วัดเล็กๆที่อยู่ในพื้นที่เดียวกับศาลเจ้านี้แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของ ชินโตและพุทธ
ไปทำอะไรกันที่ Fushimi Inari Shrine
พื้นที่แถบนี้มีชื่อเสียงเรื่องคุณภาพของน้ำที่ดี ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการปลูกข้าว และการทำสาเก ดังนั้นจึงมีโรงเหล้าสาเกอยู่เต็มไปหมด และด้วยเหตุนี้เอง เราจึงได้เห็นการถวายสาเกให้กับเทพเจ้าเป็นเรื่องปกติ บางคนก็ถวายผลไม้ หรือขนมหวานด้วย
สาเก หรือเหล้าในบริบททางวัฒนธรรมญี่ปุ่น ไม่ถือว่าเป็นของต้องห้ามสำหรับศาสนา แต่กลับยกย่องด้วยค่ะ ลองสังเกตไหสาเกตามศาลเจ้าต่างๆดู มันคือไหกลมๆห่อด้วยฟางมีชื่อยี่ห้อติด ตั้งเรียงกันบริเวณทางเข้าศาลเจ้า นั่นแหละค่ะ ไหสาเก
เอมะ (กระดานขอพร) ของที่นี่ เป็นรูปหน้าจิ้งจอกขนาดประมาณฝ่ามือ ซึ่งมีแต่โครงแต่ไร้เครื่องหน้า เพื่อให้ผู้ที่ขอพรได้แต่งแต้มลงไปได้อย่างอิสระ ส่วนด้านหลังก็เขียนคำขอ พรตามปกติ
ร้านค้าขายของและร้านอาหารบริเวณทางเข้า-ออกของศาลเจ้ามีมากมายหลากหลายให้เลือก อาหารเฉพาะถิ่น ที่น่าลิ้มลองเมื่อมาถึงคือ
ปลาไหลย่าง ขอแนะนำร้าน Nezameya (祢ざめ家) ที่มีชื่อเสียงมานานกว่า 450 ปี เดินออกมาจากศาลเจ้า (หันหลังให้ศาลเจ้า) ชิดขวาตามแนวร้านขายของที่ระลึก ตรงมาเรื่อยๆจะถึงสี่แยก แล้วก็จะเจอร้านเลยตรงหัวมุม หน้าร้านจะมีคุณลุงย่างปลาไหลกลิ่นหอมฟุ้ง เมนูเด็ดคือข้าวหน้าปลาไหลร้านเปิดประมาณ 9.00 – 18.00 น.
อินาริซูชิ (Inari sushi) ของทางคันไซและทางคันโต รูปร่างจะแตกต่างกัน เป็นซูชิที่ห่อด้วยฟองเต้าหู้แผ่น ที่ร้าน Nezameya ก็มีขายเหมือนกันค่ะ ร้านอื่นๆในแถบนี้ก็มีะนะคะ
ยากิโทริ (Yakitori) แถบนี้จะไม่ใช่เนื้อไก่ แต่เป็นเนื้อนกกระจอก แถบอื่นๆหากินไม่ได้เพราะที่ญี่ปุ่นห้ามล่านกกระจอกมาทำอาหารแล้ว ยกเว้นแถบนี้ที่ทำเป็นธรรมเนียม จึงยังมีจำหน่ายอยู่
คิทสึเนะเซมเบ้ (Kitsune senbei) ขนมแป้งทอดน่ารักๆที่ทำเป็นรูปหน้าจิ้งจอก
ส่วนของฝาก ที่พบได้แทบทุกร้านตั้งแต่ตีนเขาไปจนถึงร้านขายของบนยอดเขาคือ ตุ๊กตาพลาสเตอร์ลงสี ฟุชิมิ (Fushimi Ningyo / Fushimi Dolls) ซึ่งการทำตุ๊กตานี้เริ่มต้นขึ้นที่นี่ ต่อมาได้แพร่หลายไปทั่วญี่ปุ่น มักทำเป็นรูปบบุคคลจากนิทานหรือเรื่องเล่า อย่างคินทาโร่ โมโมทาโร่ หรือทำเป็นรูปเทพเจ้าแห่งโชคดีทั้ง 7 นิยมซื้อเป็นของฝาก สำหรับตั้งโชว์ และเชื่อว่านำโชคดีมาให้
บริเวณแถบฟุชิมินี้มีจุดอื่นที่น่าสนใจอีกค่ะ เช่นปราสาท Fushimi -Momoyama, พิพิธภัณฑ์สาเก Gekkeikan Sake Museum, วัดโทฟุคุ-จิ (Tofuku-ji) และหากลงไปทางทิศใต้อีกหน่อย ก็มีศาลเจ้าฟูจิโนะโมริ (Fujinomori Jinja) ที่ช่วงนี้ของปี มีดอกไฮเดรนเยียบานเต็มไปหมด
ค่าใช้จ่าย : ฟรี
เวลาทำการ : พื้นที่ศาลเจ้าเปิดตลอด 24 ชั่วโมง ไม่มีวันหยุด ช่วงกลางคืนเปิดไฟตามแนวโทริอิไปจนถึงบริเวณสระน้ำ (ไม่ไกลจากตีนเขานัก) แต่สำนักงานศาลเจ้า เปิด 7:00 – 18:30 / 8:30-16:30 น. (เวลาเปิด-ปิดเปลี่ยนแปลงตามฤดู)
งานทะอุเอะ 10 มิถุนายน
งานทะอุเอะ (田植 / Taue แปลว่าการปลูกข้าวหรือดำนา) ที่ศาลเจ้าฟุชิมิ อินาริ ในสมัยโบราณ ข้าวเเป็นภาษีอย่างหนึ่งที่ชาวนาต้องส่งให้กับเจ้าเมือง ดังนั้นข้าวจึงถือว่าเป็นตัวแทนเงินหรือความมั่งคั่ง
และเมื่อการค้าขายและชนชั้นพ่อค้ารุ่งเรืองขึ้นในสมัยเอโดะ (ค.ศ. 1600-1867) ความหมายของ “การเก็บเกี่ยว” จึงหมายรวมไปทั้งผลผลิตข้าว และจากธุรกิจอื่นๆ ที่หมุนเวียนเปลี่ยนไปในแต่ละปีด้วย ตั้งแต่นั้นมาศาลเจ้าอินาริจึงกลายเป็นศาลเจ้าสำคัญที่คนในวงการธุรกิจให้ความเคารพนับถือ
ในวันที่ 10 มิถุนายน จะมีงานพิธีดำนา งานเริ่ม 13:00 น. เข้าชมได้ไม่มีค่าใช้จ่าย
พิธีจัดขึ้นเพื่อให้การปลูกและเก็บเกี่ยวข้าวในปีนั้นเป็นไปด้วยดี โดยมีการแสดงระบำคากุระ (神楽 / Kagura dance / การแสดงสำหรับถวายแด่เทพของชินโต) ในชุดแต่งกายสมัยเฮอันตั้งแต่เวลา 13:00 -14:00 น.
หลังจากนั้นจะมีการดำนาโดยใส่ชุดชาวนาสมัยโบราณในพื้นที่นาศักดิ์สิทธิ์ ของศาลเจ้า โดยชายและหญิงจะใส่ชุดต่างสีกัน
ในช่วงฤดูใบไม้ร่วงที่มีการเก็บเกี่ยวข้าวจะมีพีธีถวายข้าวที่เก็บเกี่ยว เป็นครั้งแรกให้แก่เทพเจ้า ซึ่งจัดเป็นอีกงานพิธีสำคัญของศาลเจ้าฟุชิมิ อินาริ ชื่องาน Nukohosai สำหรับปีนี้จัดในวันที่ 25 ตุลาคม ค่ะ
ฝั่งซ้ายมือเป็นโทริอิสกุลชินเม
1. โทริอิแบบชิเมะ มีแค่เสาสองต้น และเชือกชิเมะนาวะ
2. โทริอิแบบชินเมะ เป็นรูปแบบพื้นฐานที่สุดของโทริอิสกุลนี้ ประกอบไปด้วยเสาตรงสองข้างและคานสองอัน ในรูปแบบที่พื้นฐานที่สุด ทั้งเสาและคานจะหน้าตัดกลม มีรูปแบบย่อยหลากหลาย เช่น หากคานระดับล่างมีหน้าตัดสี่เหลี่ยมจะเรียกว่าเป็นแบบยะสุคุนิ (Yasukuni) ตามชื่อศาลเจ้ายะสุคุนิที่โตเกียว
อีกแบบที่น่าสนใจและเป็นแบบดั้งเดิมที่ สุดในกลุ่มนี้คือ โทริอิแบบคุโระคิ (黒木鳥居 / Kuroki torii – แปลว่าต้นไม้สีดำ) เป็นโทริอิแบบชินเมที่ใช้ไม้ไม่ลอกเปลือกออก แต่เพราะเหตุนี้ทำให้ผุพังง่าย ต้องเปลี่ยนทุกๆ 3 ปี ดูแลรักษายาก จึงไม่ค่อยได้รับความนิยม และหาดูได้ยาก หนึ่งในนั้นคือศาลเจ้าโนะโนะมิยะ ที่แถบอะราชิยามะในเกียวโต (แต่แม้กระทั่งที่นั่นปัจจุบันก็ใช้วัสดุสังเคราะห์มาแทนไม้จริงโดยที่ยังคงรูปลักษณ์เหมือนเดิม)
3. โทริอิแบบอิเสะ (伊勢鳥居 / Ise torii) พบได้เฉพาะที่ศาลเจ้าอิเสะเท่านั้น และเพราะศาลเจ้าอิเสะมีชื่อทางการว่า จิงกู (Jinguu / ศาลเจ้าใหญ่) โทริอิแบบนี้จึงมีอีกชื่อว่าโทริอิแบบจิงกู จุดสังเกตคือไม่ทาสี หน้าตัดคานบนจะเป็นห้าเหลี่ยมแทนที่จะกลมแบบชินเมทั่วๆไป และมีลิ่มที่เรียกว่า คุสะบิ (Kusabi) คอยยึดคานล่างไว้กับเสา มีรูปแบบย่อยสองแบบ คือแบบคานบนชิ้นเดียว และแบบคานบนเป็นคานประกอบสองชิ้น
4. โทริอิแบบคาสุกะ (春日鳥居 / Kasuga torii) คานบนดูคล้ายแบบเมียวจิน แต่รูปร่างตรง ไม่โค้งงอน ส่วนปลายตัดตั้งฉาก พบที่ศาลเจ้าคาสุกะในเมืองนารา
ฝั่งขวามือเป็นโทริอิสกุลเมียวจิน
1. โทริอิแบบเมียวจิน ( 明神鳥居 / Myōjin torii) เป็นแบบที่พบได้บ่อยที่สุด คานประกอบบนทั้งสองชิ้นโค้งงอนขึ้น มีลิ่มยึดคานล่างไว้กับเสา อาจเป็นแบบทาสีหรือไม่ทาสีก็ได้
2. โทริอิแบบไดวะ หรือแบบ อินาริ (大輪鳥居・稲荷鳥居 / Daiwa or Inari torii) คือแบบเมียวจินแต่เพิ่มวงแหวนที่เรียกว่า ไดวะ บริเวณเสาใต้คานชิ้นบน ส่วนชื่อโทริอิแบบอินาริ ได้มาจากการที่โทริอิไดวะสีแดง พบได้บ่อยตามศาลเจ้าอินาริทั่วไป
3. โทริอิแบบเรียวบุ (両部鳥居 / Ryōbu torii) คือแบบไดวะ แต่เพิ่มเสาอีกสี่เสายึดตรึงเสาหลักทั้งสองไว้ มักอยู่กลางน้ำและทาสีแดง
4. โทริอิแบบมิวะ (三輪鳥居 / Miwa torii ) โทริอิแบบเมียวจินที่ดูราวกับเรียงติดกันสามอัน โดยเสาขนานกัน ไม่เอียงเข้า อาจจะมีประตูหรือไม่ก็ได้
ขอบคุณภาพสวยๆและข้อมูลดีๆจากสมาชิกเวปพันทิป คุณ blueschizont
และติดตามอัพเดทเกี่ยวกับเกียวโตของสมาชิกท่านนี้ได้ที่ facebook.com/kyoto4seasons
สวัสดีค่ะ GoNoGuide มีเป้าหมายที่จะให้ข้อมูลท่องเที่ยวและวีซ่า อย่างเต็มที่ในทุกเรื่องที่เรารู้ เพื่อนๆที่ต้องการสนับสนุนเรา สามารถทำได้ดังนี้
- เลือกบริการที่ต้องการสนับสนุนเรา
- GoNoGuide จะได้รับค่าคอมมิชชั่นเล็กๆน้อยๆ โดยที่เพื่อนๆไม่ต้องจ่ายอะไรเพิ่ม สำหรับลิงค์แนะนำโรงแรม เครื่องบิน และประกันต่างๆ
- กดติดตามช่อง Youtube และ Facebook GoNoGuide
ขอขอบคุณที่สละเวลาอ่านค่ะ