วางแผนเที่ยว Heidelberg

วางแผนเที่ยวยุโรป-4

วางแผนเที่ยว Heidelberg

วางแผนเที่ยว Heidelberg เมื่อคืนพวกเราค้างกันที่แฟรงค์เฟิร์ทเป็นคืนแรกค่ะ  แต่วันนี้จะไปเที่ยวไฮเดลเบิร์กกันทั้งวัน  แต่ก็จะกลับมาค้างที่แฟรงค์เฟิร์ทเหมือนเดิมค่ะ

สำหรับที่พัก ก็จะพักที่โรงแรมในแฟรงค์เฟิร์ท ที่เดียวกับเมื่อคืนนี้ค่ะ วางแผนเที่ยว Frankfurt

การเดินทางไปไฮเดลเบิร์ก

นั่ง Flixbus เป็นรถบัสที่มีทั่วยุโรป ราคาถูก แต่คุณภาพดีค่ะ  ในราคาคนละ 6 Euro ต่อเที่ยวค่ะ

ใช้เวลาในการเดินทาง 1ชั่วโมง 30 นาที

วันนี้พวกเราจะมาแค่เที่ยว แต่ไม่ได้มาค้างคืนค่ะ  พวกเราจะกลับไปค้างที่แฟรงค์เฟิร์ทกันค่ะ  ดังนั้นก็จะต้องซื้อตั๋ว Flixbus แบบไปกลับค่ะ คนละ 12 Euro (ไป-กลับ)

 

การเดินทางในไฮเดลเบิร์ก

Bus และ Tram ราคาเริ่มต้น 1.3 Euro ต่อเที่ยวต่อคน (ถ้าไปแค่เมืองเก่าก็ 1.3 Euro ค่ะ)

แต่พวกเราเลือกใช้  VRN DAY TICKET เป็นตั๋ววันของไฮเดลเบิร์ก ราคา 9.2 Euro ใช้ได้ 2 คน  สามารถใช้ได้กับ รถไฟในเมือง Bus และ Tram  รวมถึง Lower Funicular ด้วย

แต่คนที่จะมาไฮเดลเบิร์ก ก็ต้องเข้าปราสาทไฮเดลเบิร์กใช่มั้ยคะ

ค่าเข้าปราสาทไฮเดลเบิร์ก ซึ่งจะขายควบกับ Funicular อยู่แล้ว  (ไม่มีแยกขายเฉพาะตั๋วปราสาท) ในราคา 7 Euro

 

วางแผนเที่ยวยุโรป-5

 

สถานที่เที่ยวไฮเดลเบิร์ก

Heidelberg Castle

เป็นสถาปัตยกรรมสไตล์ Gothic & Renaissance

ปราสาทไฮเดลเบิร์กตั้งอยู่บนเนินเขาสูงประมาณ 90 เมตร

จริงๆแล้วเมืองไฮเดลเบิร์กถูกพูดถึงกันตั้งแต่ปีค.ศ.1196  เรียกกันว่า “Heidelberch” ตัวปราสาทในส่วนแรกๆ ตั้งขึ้นช่วงPrince Elector Ruprecht III (ค.ศ.1398 – 1410) ใช้เป็นที่ประทับของกษัตริย์

แรกเริ่มปราสาทไฮเดลเบิร์กถูกสร้างขึ้นในสไตล์ Gothic ตอนแรกก็ไม่ได้ใหญ่มาก แต่พอเปลี่ยนผู้ปกครอง เปลี่ยนยุค เปลี่ยนสมัย ก็ต่อเติมมากขึ้นเรื่อยๆ เลยกลายเป็นอาคารต่อๆกัน สถาปัตยกรรมก็ต่างกัน และหลังๆก็มีสไตล์เรอเนอร์ซองส์ปนมาด้วย

ปราสาทอันเก่าแก่นี้ ได้ผ่านวิบากกรรมมาหลายต่อหลายครั้ง ทั้งไฟไหม้ ฟ้าผ่า ถูกเผา ถูกทำลายจากสงคราม

ที่โดนหนักสุดคนจะเป็นในช่วงสงครามสามสิบปี (ค.ศ.1618-1648)  ในปีค.ศ.1633  จนกระทั่งถูกยึดปราสาทได้ในปีค.ศ.1635  หลังจากจบสงครามสามสิบปี ผู้นำคนใหม่คือ Charles Louis (หรือ Karl Ludwig)  ก็ได้ทำการทำนุบำรุงก่อนที่จะเข้ามาอาศัยอยู่ ในปีค.ศ.1649

ในช่วงสงครามเก้าปี ค.ศ.1688  กองทัพฝรั่งเศสก็เข้ายึดปราสาทเป็นฐานทัพ แต่ในปีถัดมา ก็ต้องถอนทัพออกไป  แต่ก่อนจะไปอย่างเร่งรีบก็ได้เผาหอคอย และปราสาทบางส่วนก่อน แต่ด้วยความปราณีของนายทหารคนนึง ได้แอบบอกให้ชาวบ้านจุดไฟเล็กๆในบ้าน แต่ทำให้เกิดควันเยอะๆ  จะได้ให้ผู้บังคับบัญชาเห็นว่าโดนเผาทั้งเมืองแล้ว

ในปีค.ศ.1690 ก็ถูกบูรณะซ่อมแซมขึ้นใหม่ให้แข็งแรง  จนในปีต่อมาที่ฝรั่งเศสก็บุกเข้ามาอีก ถึงแม้จะยังไม่สามารถบุกเข้ามาได้ในทันที แต่ในที่สุดฝรั่งเศสก็บุกเข้ามาจนได้ แม้ว่าจะใช้เวลาถึง3ปีก็ตาม แล้วก็เผาปราสาทให้สิ้นซาก แก้แค้นที่ครั้งที่แล้วรีบไป เลยเผาไม่หมด   ยึดได้ครั้งนี้เลยเผาให้เกลี้ยง

เมื่อสงครามจบลงในปีค.ศ.1697  แต่ปราสาทและเมืองถูกเผาทำลายจนยากที่จะสร้างขึ้นใหม่ แถมยังต้องใช้เงินจำนวนมาก  และด้วยเหตุที่ตัวปราสาทอยู่ในที่สูง ซึ่งยากต่อการขนส่ง แถมยังต้องสร้างในสไตล์บาโรคแบบเก่าอีก ซึ่งก็ยากพอสมควร  ก็เลยถูกทิ้งไว้ก่อน จนชาวบ้านก็พากันขนหิน ขนเศษซาก เหล็ก รวมถึงเครื่องประดับ สถาปัตยกรรมต่างๆ  เอามาซ่อมแซมบ้านตัวเองกันหมด

ในปีค.ศ.1720 เกิดความขัดแย้งทางศาสนาขึ้น  พระเจ้าชาร์ลก็เลยประกาศย้ายไปเมือง Mannheim (อยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของ Heidelberg)

จนในศตวรรษที่19 ซากปราสาทแห่งนี้ ก็ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของการต่อต้านนโปเลียนไปเลย

ช่วงก่อนปีค.ศ.1800 ได้มีศิลปินชื่อดังด้านต่างๆ เวียนกันมาชมซากปราสาทจากฝั่งตรงข้ามแม่น้ำ  จนเกิดภาพวาดที่ทำให้มีนักท่องเที่ยวมาชมกันมากขึ้น

มีการถกเถียงกันเรื่องการบูรณะปราสาทนี้ขึ้นมาใหม่กันอยู่นานมาก จนกระทั่งปีค.ศ.1868 มีกวีชื่อ Wolfgang Müller von Königswinter  ที่เป็นคนเริ่มเคลื่อนไหวเรื่องนี้อย่างจริงจัง (ก่อนหน้านี้ก็มีการซ่อมบ้าง แต่ไม่ได้จริงจัง)

แต่กว่าจะได้เริ่มสร้างก็ปาเข้าไปปีค.ศ.1897  และแล้วเสร็จเมื่อปีค.ศ.1900 ด้วยเงิน 520,000 Marks แต่ถึงยังไงก็ยังไม่ได้เป็นจุดสนใจจากนักท่องเที่ยวมากนัก

จนกระทั่งเข้าสู่ศตวรรษที่19  ที่ได้มีการวาดภาพลงบนโพสการ์ด  ประทับรูปลงบนแก้ว ถึงได้มีคนเห็นความสวยงาม

ในศตวรรษที่20 นักท่องเที่ยวชาวอเมริกันก็ได้ป่าวประกาศความสวยงามของปราสาทออกไปทั่ว แค่ในช่วงต้นของศตวรรษที่21 ก็มีผู้เยี่ยมชมแล้วมากกว่า 3 ล้านคนต่อปี  และค้างคืน 1 ล้านคนต่อปี  ซึ่งนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ก็จะเป็นชาวอเมริกัน และญี่ปุ่น   ปราสาทไฮเดลเบิร์กได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกด้วย

สวนในตำนาน

เมื่อประมาณค.ศ.1616-1619 พระเจ้าเฟดเดอริคที่5 ได้สร้างสวนอลังการเพื่อเป็นที่ฉลองพิธีแต่งงาน กับเจ้าหญิง อลิซาเบธ สจ๊วต จากอังกฤษ ซึ่งมีอายุยังไม่ถึง17 ปี แน่นอนว่าเป็นการแต่งงานการเมือง โดยมีพิธีเฉลิมฉลองที่แพงมหาแพง แถมยังเร่งสร้างประตูในสวนให้เสร็จภายในคืนเดียว

พระเจ้าเฟดเดอริคที่5 ต้องไปอยู่อังกฤษเกือบครึ่งปี ทิ้งให้เจ้าหญิงผู้เอาแต่ใจอยู่ทีปราสาท  เจ้าหญิงก็เลยเกิดไอเดียต่อเติมปราสาทใหม่ซะเลย  โดยเรียกสถาปนิกชื่อดังมาจากอังกฤษ ปรับเปลี่ยนสวน และห้องต่างๆ  จนกลายเป็นสิ่งมหัสจรรย์อันดับ8ของโลกเลย

 Heidelberg Tun ถังไวน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก

ถูกสร้างขึ้นเมื่อปีค.ศ.1715  Prince Elector Karl Theodor  ซึ่งเป็นถังเก็บไวน์ที่ถือเป็นการเก็บภาษี สูง 7 เมตร กว้าง 8 เมตรครึ่ง เก็บไวน์ได้ถึง 220,000 ลิตร  ในนั้นก็ยังมีพื้นที่ฉลอง เต้นกันอีกด้วย

Apothecary Museum

เป็นพิพิธภัณฑ์ยา ที่ให้ผู้เข้าชมได้เรียนรู้ถึงประวัติศาสตร์ยา  การผลิต วัตถุดิบกว่า 1000 ชนิด  สูตรตำรับยา อุปกรณ์ และเทคนิคต่างๆ  ที่มีมาตั้งแต่สมัยศตวรรษที่17-19

Castle lighting

มีการจุดพลุ เพื่อรำลึกถึงการถูกเผา3ครั้งใหญ่ๆในประวัติศาสตร์ (ค.ศ.1689 ,1693 ,1764) สองครั้งแรกเกิดจากกองทัพฝรั่งเศส  ส่วนครั้งสุดท้ายเกิดจากฟ้าแลบฟ้าผ่า โดยจะจัดขึ้นในวันเสาร์แรกของเดือนมิถุนายน  เดือนกันยายน  และเสาร์ที่สองของเดือนกรกฎาคม

 

Seelsorgeeinheit Heidelberg  Neckartal  (Jesuitenkirche) เป็นโบสถ์สไตล์บาโรค  สร้างขึ้นตั้งแต่ปีค.ศ.1712  แต่ภายในจะดูทันสมัยหน่อย

 

Heiliggeistkirche (Church of the Holy Ghost)   เป็นโบสถ์ที่สร้างขึ้นระหว่างปี 1398 – 1441  เป็นที่ฝังศพของ Prince Elector  และเคยใช้เป็นหอสมุด Palatinate ด้วย   นักท่องเที่ยวสามารถขึ้นไปชมวิวข้างบนได้ค่ะ

 

Market Square (Marktplatz)  เป็นที่ตั้งของศาลาว่าการเมืองตั้งแต่ปี 1701  มีโชว์ตีระฆังที่หอช่วงประมาณ ก่อนเที่ยง 4โมงเย็น และ 5โมงเย็นด้วยค่ะ

Karlsplatz   เป็นจตุรัสที่ตั้งชื่อตาม Grand Duke Karl Friedrich von Baden

Alte Brücke  ประตูทางเข้าเมืองเก่า  ติดกับสะพานข้ามแม่น้ำเนคคา

 

Philosophers’ Way (Philosophenweg)  เป็นเส้นทางเดินเลียบแม่น้ำNeckar ที่เคยมีนักปราชญ์ ศิลปินที่โด่งดังในประวัติศาสตร์ มาเดินบริเวณนี้มากมาย   ไม่ได้มีบ้านเมือง  แต่เป็นจุดชมวิวเมืองดีมาก  เห็นปราสาทไฮเดลเบิร์กชัดเจนมาก

 

 Student Jail(Studentenkarzer)  เป็นคุกที่ใช้กักบริเวณผู้เยาว์ ที่ทำความผิด ก่อความไม่สงบให้เมืองในสมัยก่อน  แต่ไม่ได้เหมือนคุกนักโทษ ไม่ได้ทารุณอะไร มีการไปเรียนหนังสือ แต่เลิกเรียนแล้วก็ต้องกลับมา  คุกนี้ใช้ตั้งแต่ปี 1778 -1914  เข้าไปก็จะเห็นกำแพงมีการขีดเขียน วาดรูปเต็มไปหมด

 

Thingstatte Heidelberg  เป็นอัฒจันทร์ที่สมัยนาซีสร้างขึ้น  เดินจากสะพานขึ้นไปบนเนินประมาณ 20 นาที

 

สรุปประวัติของ Heidelberg

550,000 ปีก่อนคริสตกาล  เชื่อมั้ยว่ามีการขุดพบฟอสซิลส่วนกรามของมนุษย์สปีชี่ร์ชื่อว่า homo heidelbergensis   ถือเป็นการค้นพบบรรพบุรุษของชาวยุโรปเลยนะ

ศตวรรษที่5 ก่อนคริสตกาล  มีชาวเซลติกเข้ามาอาศัย

ค.ศ.80  ชาวโรมันเข้ามาถิ่นฐาน

ค.ศ.260  ชาวโรมันถูกขับไล่โดยชนเผ่า Alemannic

ค.ศ.769  มีการตั้งเป็นหมู่บ้านชุมชนใหญ่ขึ้นเป็นครั้งแรกชื่อว่า Bergheim

ค.ศ.1155  พระเจ้าคอนราดที่3 แห่งตระกูล Hohenstaufen ก่อตั้ง Palatinate line  ซึ่งเป็นตระกูลที่มีอิทธิพลสูงสุดในช่วงจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์

ค.ศ.1196  มีการอ้างถึงชื่อ Heidelberch เป็นครั้งแรก

ค.ศ.1214 แผ่นดินของ Palatinate ถูกยึดครองโดยตระกูล Wittelsbach ภายใตตยุกลุดวิกที่1 แห่งบาวาเรีย

ค.ศ.1303  พบเอกสารยืนยันที่ตั้งของปราสาท แต่อาจยังไม่มีปราสาทในตอนนั้น

ค.ศ.1329  Palatinate แยกตัวออกจากบาวาเรีย

ค.ศ.1359  Prince Elector Ruprecht I  ตั้งมหาวิทยาลัยไฮเดลเบิร์กขึ้น ถือว่าเป็นมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่ที่สุดของเยอรมนี

ค.ศ.1400  เริ่มมีการสร้างโบสถ์ Heiliggeistkirche (Church of the Holy Ghost)  Prince Elector Ruprecht I  ได้ขึ้นเป็นกษัตริย์ของเยอรมนี แต่ก็สิ้นพระชนม์ลงใน10ปีให้หลัง และได้มีการแบ่งแผ่นดินให้ลูกๆทั้ง4คน

ค.ศ.1556-59  Prince Elector Otto Heinrich  ได้เปลี่ยนสไตล์ของปราสาทเป็นแบบเรอเนอซองส์  ถือว่าเป็นครั้งแรกในเยอรมนี

ค.ศ.1563 The Heidelberg Catechism ถูกทำขึ้นเป็นตำรา

ค.ศ.1610 Prince Elector Friedrich V ได้สั่งให้สร้างสิ่งก่อสร้างที่ทุกวันนี้ถือว่ามีชื่อเสียงมากนั่นคือ Schlossgarten (“castle garden”) , the Englischer Bau (“English Building”)  และ the Elisabethentor (gate)

ค.ศ.1618  เกิดสงครามสามสิบปี

ค.ศ.1619 พระเจ้าเฟเดอริชที่2 The Winter King ถูกเลือกให้เป็นกษัตริย์แห่งโบฮีเมีย  แต่ก็ได้เป็นแค่หน้าหนาวเดียวเท่านั้น เพราะเป็นฝ่ายแพ้กองทัพของจักรพรรดิในปีถัดมา

ค.ศ.1622 ห้องสมุด “Palatinate Library” ถูกปิดโดยกองทัพของจักรพรรดิ

ค.ศ.1648  สิ้นสุดสงครามสามสิบปี Prince Elector Karl Ludwig ได้สั่งให้บูรณซ่อมแซมปราสาท และมหาวิทยาลัยขึ้นใหม่ และสนับสนุนให้นิกายลูเทอรันเป็นนิกายที่ถูกกฏหมาย

ค.ศ.1688  กองทัพฝรั่งเศสเข้ายึดเมืองไฮเดลเบิร์กและเผาทำลายปราสาทและเมืองลงแต่ยังไม่สิ้นซาก

ค.ศ.1693 กองทัพของพระเจ้าหลุยส์ ก็เข้ามาอีกครั้ง คราวนี้ได้ทำลายทุกอย่างจนสิ้นซาก.

ค.ศ.1697  ชาวบ้านเริ่มบูรณะซ่อมแซมบ้านเมืองขึ้นใหม่ในรูปแบบกอธิคเก่า แต่ผสมสไตลบาโรก

ค.ศ.1720 Prince Elector Carl Philipp ย้ายไปเมือง Mannheim หลังจากเกิดความขัดแย้งทางศาสนากับชาวเมือง

ค.ศ.1742-99 Karl Theodor ผู้นำแห่ง Prince Elector ได้สร้างสะพานหินข้ามแม่น้ำ Neckar (ค.ศ.1786-88)  พัฒนาหอสมุดของมหาวิทยาลัย และเริ่มฟื้นฟูปราสาท มีการสร้างประตู Karlstor gate (ค.ศ.1775 – 1781) ขึ้นมาเพื่อเป็นเกียรติแก่เขาด้วย

ค.ศ.1764  เกิดฟ้าผ่าลงมาที่ปราสาทอีก ครั้งนี้เสียหายจนยากที่จะอยู่ได้

ค.ศ.1810  เริ่มมีการอนุรักษ์ซากปราสาท ไม่ให้เสียหายไปมากกว่านี้

ค.ศ.1815 จบยุคนโปเลียน มีการตั้งพันธมิตรแห่งสวรรค์ขึ้นใน Heidelberg ได้แก่ King of Prussia  ,  Tsar of Russia  และ Emperor of Austria

ค.ศ.1840  มีการเชื่อมสายรถไฟจากเมือง Mannheim ไปยัง Heidelberg

ค.ศ.1860  มีการจุดพลุเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ที่ปราสาทถูกไฟเผา ขึ้นเป็นครั้งแรก

ค.ศ.1945  หลังจบสงครามโลกครั้งที่2 กองทัพอเมริกัน เข้าควบคุม โดยเมืองนี้ไม่ค่อยได้ถูกระเบิดเพียงเพราะนายพลอเมริกัน Patton ชอบเมืองนี้มาก แถมเมืองนี้ยังเป็นสำนักงานใหญ่ของกองทัพอเมริกันในยุโรปอีกด้วย

ค.ศ.1978   Hauptstrasse (main street) กลายเป็นถนนคนเดิน บ้านเมืองพัฒนาไปในทางสมัยใหม่มากขึ้น

ค.ศ.1986   มีการฉลองครบรอบ 600 ปี ของ The Palatinate Library

ค.ศ.1996  Heildelberg มีอายุครบ 800 ปี

ปัจจุบัน  เมืองไฮเดลเบิร์กมีประชากรมากกว่า 140,000 คน และมากกว่า 34,000 คน เป็นนักศึกษาและเนื่องจากเมืองนี้เป็นสำนักงานใหญ่ของกองทัพอเมริกัน จึงมีทหารอเมริกัน และครอบครัวอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากด้วย

นอกจากเมืองไฮเดลเบิร์กจะมีทั้งประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน สวยงาม โดดเด่นในเรื่องการศึกษา เป็นสำนักงานใหญ่ของกองทัพ แน่นอนว่าก็ยังเชี่ยวชาญด้านงานวิจัย สถาบัน องค์กรที่มีประสิทธิภาพสูง รวมถึงอุตสาหกรรมขั้นสูง เป็นผู้นำการผลิตวัสดุก่อสร้าง โดยมีผลิตภัณฑ์หลักคือซีเมนต์   หรือถ้าใครรู้จักปากกาหมึกซึมยี่ห้อ Lamy ที่นี่คือต้นตำรับ


 

แผนการเดินทาง Heidelberg _ Germany _ Day2 


สรุปแผนการเดินทาง ทริปเยอรมนี-ออสเตรีย 30 วัน

รีวิวเที่ยวจริง เยอรมนี – ออสเตรีย – บูดาเปสต์

สวัสดีค่ะ GoNoGuide มีเป้าหมายที่จะให้ข้อมูลท่องเที่ยวและวีซ่า อย่างเต็มที่ในทุกเรื่องที่เรารู้ เพื่อนๆที่ต้องการสนับสนุนเรา สามารถทำได้ดังนี้

  • เลือกบริการที่ต้องการสนับสนุนเรา
  • GoNoGuide จะได้รับค่าคอมมิชชั่นเล็กๆน้อยๆ โดยที่เพื่อนๆไม่ต้องจ่ายอะไรเพิ่ม สำหรับลิงค์แนะนำโรงแรม เครื่องบิน และประกันต่างๆ
  • กดติดตามช่อง Youtube และ Facebook GoNoGuide

ขอขอบคุณที่สละเวลาอ่านค่ะ


ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.