ประวัติเยอรมนี
ก่อนจะเข้า ประวัติเยอรมนี เรามาทำความเข้าใจกันก่อนนะคะว่า…
คำว่า เยอรมัน (German) ใช้เรียก คน หรือ ภาษา
คำว่า เยอรมนี (Germany) ใช้เรียก ประเทศ
แต่คนเยอรมันจะเรียกตัวเองว่า ด๊อยช์ (Deutsch) ใช้ภาษาด๊อยช์ (Deutsch)
แต่จะเรียกประเทศตัวเองว่า ด๊อยช์แลนด์ (Deutschland)
และเพื่อความเข้าใจอย่างถ่องแท้ แอดมินจะขุด ประวัติเยอรมนี กันให้ลึกตั้งแต่ยุคโรมันกันเลยค่ะ
ใครอยากอ่าน สรุปประวัติเยอรมนี แบบคร่าวๆก่อนก็ตามไปอ่านได้เลยค่ะ
กาลครั้งหนึ่ง นานมาแล้ว….
กำเนิดสาธารณรัฐโรมัน (509 ปีก่อนคริสตกาล – ศตวรรษที่ 1 ก่อนคริสกาล)
กรุงโรมเป็นเมืองเล็กๆ แต่ถือว่าศิวิไลซ์ที่สุดเมืองนึง กรุงโรมถูกก่อตั้งขึ้น ตั้งแต่ประมาณ ปี 753 ก่อนคริสตกาล
จากนั้นก็ได้ก่อตั้งขึ้นเป็น “สาธารณรัฐโรมัน” ในปี 509 ก่อนคริสตกาล ซึ่งถือว่าเป็นสาธารณรัฐแห่งแรกของโลก
ต่อมาในปี 270 ก่อนคริสตกาล สาธารณรัฐโรมันก็ได้ขยายอาณาเขต จนกินพื้นที่ทั้งหมดของประเทศอิตาลีในปัจจุบัน
ต่อมาในปี 100 ก่อนคริสตกาล เกิดสงครามกลางเมือง และกระจายรวมถึงรอบๆ แต่มีขุนพลคนนึงของโรมัน ชื่อว่า จูเลียส ซีซาร์ ได้รับชัยชนะอันยิ่งใหญ่
ทำให้พื้นที่ของฝรั่งเศส สเปน อังกฤษ กรีซ อียิปต์ ซีเรีย และเอเซียไมเนอร์ในปัจจุบัน (คือเมื่อก่อนยังไม่ได้มีชื่อประเทศพวกนี้นะคะ) ตกเป็นของสาธารณรัฐโรมันทั้งหมด
ข้อมูลจาก https://th.wikipedia.org/ประวัติศาสตร์โรม
กลุ่มชนเจอร์แมนิกรุกเข้าชายแดนสาธารณรัฐโรมัน
ในระหว่างช่วงที่เกิดสงครามกลางเมืองอันยาวนานนั้น (ปี 100 ก่อนคริสตกาล)
กลุ่มชนเจอร์แมนิก (Germanic people) ที่มาจากแถบสแกนดิเนเวีย(ทวีปยุโรปตอนบนในปัจจุบัน) ก็ได้ค่อยๆเดินทางมาตั้งรกราก จนกระทั่งกินพื้นที่กว้างมาก คือตั้งแต่แม่น้ำไรน์ ไปจนถึงเทือกเขาอูราล
กลุ่มชนเจอร์แมนิกนี้ เป็นต้นตระกูลของ ชาวสวีเดน ชาวเดนมาร์ก ชาวนอร์เวย์ ชาวอังกฤษ ชาวไอซ์แลนด์ ชาวแฟโร ชาวเยอรมัน ชาวออสเตรีย ชาวดัตช์ ชาวฟรีเซียน ชาวเฟลมิช ชาวแอฟริกาเนอร์
แต่ด้านล่าง(ทวีปยุโรปตอนล่าง) ก็มีชาวโรมันกระจายอำนาจอยู่ก่อนแล้ว ก็เลยเกิดการสู้รบกันขึ้น
ในค.ศ. 9 ทัพโรมันก็ได้พ่ายแพ้ครั้งยิ่งใหญ่ต่อกลุ่มชนเจอร์แมนิก ถึงกับทำให้ชาวโรมันเลิกล้มความคิดที่จะบุกกลุ่มชนเจอร์แมนิกอีกด้วย (ไม่ธรรมดาแล้วล่ะค่ะกลุ่มชนเจอร์แมนิกเนี่ยะ)
พอกลุ่มชนเจอร์แมนิก เห็นว่าชนะชาวโรมันได้ ก็เลยรุกคืบเข้าตามแนวชายแดน ของสาธารณรัฐโรมันเลยสิคะ แล้วก็ค่อยๆหลอมรวมกับชาวโรมันอีกด้วย
จนทำให้กลุ่มชนเจอร์แมนิก แบ่งออกได้เป็นหลายเผ่า เผ่าที่ใหญ่ๆ ก็เช่น เผ่าวิซิกอท (Visigoths) , แวนดัล (Vandals) , แฟรงก์ (Franks) ฯลฯ
สาธารณรัฐโรมันเปลี่ยนเป็นจักรวรรดิโรมัน(ประมาณศตวรรษที่1)
จริงๆแล้วในช่วงเปลี่ยนถ่ายจากสาธารณรัฐโรมัน ไปเป็นจักรวรรดิโรมัน ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ ว่าควรจะนับช่วงไหนดี แต่อยู่ในช่วง 44ปีก่อนคริสตกาล – 27 ปีก่อนคริสตกาลแน่นอน
เนื่องจากสาธารณรัฐโรมันเริ่มอ่อนแอลงจากสงครามกลางเมือง และความขัดแย้งต่างๆภายใน
จนกระทั่งต่อมา ในช่วงศตวรรษที่3 กรุงโรมได้ถูกยุติความเป็นเมืองหลวง ของจักรวรรดิโรมันลง เมื่อปีค.ศ.286 แล้วย้ายเมืองหลวงไปที่เมดิโอลานัม (หรือที่มิลานในปัจจุบัน) และย้ายอีกทีไปที่ราเวนนา
จักรวรรดิโรมันถูกแบ่ง
จักรวรรดิโรมันถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ
จักรวรรดิโรมันตะวันตก(ค.ศ.286- ค.ศ.476)
จักรวรรดิโรมันตะวันออก หรือเรียกอีกชื่อได้ว่า จักวรรดิไบแซนไทน์ (ค.ศ.330 – ค.ศ.1453)
แต่จักรวรรดิโรมันก็ยังคงรุ่งเรืองอยู่นะคะ เพราะมีการรวมตัวกันของจักรพรรดิ แต่เมื่อจักรพรรดิองค์สุดท้ายเสด็จสวรรคตลง ในปีค.ศ.395 ทำให้จักรวรรดิโรมันแยกตัวออกจากกันอย่างเด็ดขาด เป็นตะวันตก กับตะวันออก ตามข้างต้นค่ะ
จักรวรรดิโรมันตะวันตกล่มสลาย(ค.ศ.476)
ในช่วงศตวรรษที่4 มีชาวฮั่นจากเอเซีย(ที่โดดเด่นมากคือ อัตติลา(Attila)) เข้ามารุกรานกลุ่มชนเจอร์แมนิก ทำให้ต้องหลบหนีลึกเข้าไปในจักรวรรดิโรมันตะวันตกด้านในๆ จากที่เคยอยู่แต่ตามขอบชายแดน
เหตุการณ์นี้ เป็นสาเหตุหนึ่ง ที่ทำให้จักรวรรดิโรมันตะวันตก เริ่มอ่อนแอลง (คงจะเหมือนมีแรงงานต่างด้าวทะลักเข้าประเทศของเราน่ะค่ะ ปัญหามากขึ้น การจัดการต่างๆก็ยากขึ้นตาม วัฒนธรรม และความคิดต่างๆ ก็แตกแยกกัน)
จนในที่สุด ก็ถูกผู้นำเผ่ากลุ่มชนเจอร์แมนิกที่ชื่อ โอโดอาเซอร์ (Odoacer) สามารถเข้ายึดกรุงโรมได้ (อย่าลืมนะคะว่าตอนนั้นกรุงโรมไม่ใช่เมืองหลวงแล้ว เมืองหลวงตอนนั้นอยู่ที่ราเวนนา)
แต่ก็ทำให้โรมิวลัส ออกัสตัส ซึ่งเป็นจักรพรรดิแห่งจักรวรรดิโรมันตะวันตก ต้องสละราชสมบัติ เมื่อปีค.ศ.476 (ถือว่าเป็นจักรพรรดิองค์สุดท้ายของจักรวรรดิโรมันตะวันตก)
จุดนี้ถือเป็นการล่มสลาย ของจักรวรรดิโรมันตะวันตกแล้วนะคะ
ต่อมาก็เข้าสู่ยุคกลาง หรือ เริ่มเข้าประวัติศาสตร์ยุโรปแล้วค่ะ
ขอตัดมาที่ฝ่ายจักรวรรดิโรมันตะวันออกนิดนึงนะคะ
ทางฝ่ายจักรวรรดิโรมันตะวันออก ก็มีจักรพรรดิคอนสแตนตินที่1 (Constantine I) ที่ครองราชสมบัติ ช่วงค.ศ.306 – ค.ศ.337
จักรพรรดิคอนสแตนตินที่1 มีฉายาว่า “นักบุญคอนสแตนติน” ซึ่งเป็นที่นับถือของคนในนิกายไบแซนไทน์คาทอลิก (หรือนิกายอีสเติร์นออร์โธด็อกซ์)
จึงเรียกจักรวรรดิโรมันตะวันออกได้อีกชื่อว่า “จักรวรรดิไบแซนไทน์”
จักรพรรดิคอนสแตนตินที่1 เป็นผู้ประกาศเลิกการทารุณกรรม ต่อศริสต์สาสนิกชน ทั่วจักรวรรดิโรมัน
ในปี ค.ศ.324 จักรพรรดิคอนสแตนตินที่1 ได้ปรับปรุงเมืองไบแซนเทียม(Byzantium) ให้เป็น “กรุงโรมใหม่”(Nova Roma)
ในปี ค.ศ.330 ทรงประกาศให้เมืองไบแซนเทียม เป็นเมืองหลวงใหม่ของจักรวรรดิโรมัน และเปลี่ยนชื่อเมืองไบเซนเทียมให้เป็น “คอนสแตนติโนเปิล” (Constantinople) แปลว่าเมืองของคอนสแตนติน ซึ่งก็คืออิสตันบูลของประเทศตุรกีในปัจจุบันค่ะ
หลังจากที่ จักรพรรดิคอนสแตนตินที่1 สิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ.337 เมืองคอนสแตนติโนเปิลก็ยังคงเป็นเมืองหลวงที่ยาวนานกว่าพันปี จนกระทั่งสิ้นสุดเมื่อปีค.ศ.1453
ข้อมูลจาก https://th.wikipedia.org/wiki/จักรพรรดิคอนสแตนตินมหาราช
กลับมาที่จักรวรรดิโรมันตะวันตกกันต่อนะคะ
หลังจากที่จักรพรรดิโรมันตะวันตกถูกปลด และจักรวรรดิโรมันตะวันตกล่มสลาย (ค.ศ.476)
ในขณะเดียวกันก็มีชาวแฟรงก์ ที่ตั้งรกรากอยู่ในแถบฝรั่งเศส เป็นกลุ่มที่เรืองอำนาจที่สุด ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากจักรวรรดิโรมันตะวันตกที่สลายลง
เพื่อให้เห็นภาพว่าแฟรงก์ยิ่งใหญ่ขนาดไหน ไปดูแผนที่ของแฟรงก์กันค่ะ
กลุ่มชาวแฟรงก์ (Franks) เป็นกลุ่มชนเจอร์มานิกกลุ่มหนึ่ง ประกอบด้วยชนเผ่าต่างๆ ได้แก่ พวกซูเอบี (Suebi) พวกธือริงเงน (Thuringen) พวกแซกซอน (Saxons) พวกบาวาเรียน (Bayern) และพวกแฟรงก์ (Franks) (อันนี้ชื่อเหมือนกับชื่อกลุ่มใหญ่เลย)
ซึ่งภายหลัง กลุ่มต่างๆเหล่านี้ก็กลายมาเป็นชื่อแคว้นต่างๆในประเทศเยอรมนี ได้แก่ แคว้นสวาเบีย ธูรินเจีย แซกโซนี บาวาเรีย และฟรังโคเนีย
ทั้งหมดนี้รวมตัวกันภายใต้ราชวงศ์เมโรวิงเจียน (Merovingian ; ค.ศ.481 – ค.ศ.751)
แต่ต่อมา อำนาจก็ย้ายไปอยู่ในมือของขุนนางตระกูลคาโรลินเจียน(Carolingian) ที่ชื่อ ชาร์ล มาร์แตล (Charles Martel)
ต่อมา เปแปงร่างเตี้ย (Pepin the Short) ซึ่งเป็นบุตรของชาร์ล มาแตล ก็ได้ขึ้นเป็นกษัตริย์ แล้วได้ล้มล้างราชวงศ์เมโรวินเจียน และตั้งราชวงศ์คาโรลิงเจียน ขึ้นมาแทน
พระเจ้าเปแปงร่างเตี้ย ซึ่งเป็นบิดาของชาร์เลอมาญ ซึ่งเป็นบุคคลต้นเรื่องของ ประวัติศาสตร์ยุโรป ที่เดี๋ยวจะสรุปให้อ่านต่อไปนี้ค่ะ
(ว่าแต่ทำไมโดนเรียกว่า เปแปงร่างเตี้ย ก็ไม่รู้ค่ะ ชื่อคนอื่นยังไม่เห็นมีฉายากันเลย)
ข้อมูลจาก https://th.wikipedia.org/wiki/ราชวงศ์การอแล็งเฌียง
กำเนิดจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์
จุดเปลี่ยนที่ทำให้ชาวแฟรงค์(กลุ่มชนเจอร์มานิกกลุ่มใหญ่กลุ่มหนึ่ง) เรืองอำนาจก็คือ
มีกลุ่มชนเจอร์มานิกอีกกลุ่มหนึ่ง คือพวกลอมบาร์ด(Lombards) ที่เข้าบุกกรุงโรม ซึ่งเป็นสถานที่ที่พระสันตปาปาลีโลที่3 ประทับอยู่
พระสันตะปาปาก็เลยขอให้พระเจ้าชาร์เลอมาญ (Charlemagne) ซึ่งเป็นกษัตริย์แห่งชาวแฟรงก์ มาช่วยขับไล่พวกลอมบาร์ด
(นี่ไงคะ เจอแล้ว พระเจ้าชาร์เลอมาญ ที่เป็นบุตรของ เปแปงร่างเตี้ย ที่บอกไงคะ)
เมื่อพระเจ้าชาร์เลอมาญ เอาชนะพวกลอมบาร์ดได้ พระสันตปาปา ก็รับรอง พระเจ้าชาร์เลอมาญ ในฐานะ “จักรพรรดิแห่งชาวโรมัน” และมีพิธีสวมมงกุฏ ณ มหาวิหารเซนต์ปีเตอร์ ในกรุงโรม ในค.ศ.800
ไปดูแผนที่ข้างล่างนะคะ แล้วจะเข้าใจ
ตรงสีส้ม เป็นอาณาจักร์แฟรงก์ ของพระเจ้าชาร์เลอมาญ
ส่วนสีเขียว เป็นส่วนที่ได้เพิ่มมาจากการเอาชนะพวกลอมบาร์ดได้
สรุปว่าทั้งหมดนี้ ถือเป็นจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ในปีค.ศ.800
เหตุการณ์นี้แปลว่า พระเจ้าชาร์เลอมาญ มีฐานะเทียบเท่าจักรพรรดิแห่งจักรวรรดิโรมัน เป็นประมุขเหนือดินแดนจักรวรรดิโรมันตะวันตกทันทีค่ะ
พูดง่ายๆก็คือ พระเจ้าชาร์เลอมาญ ได้กุมอำนาจของจักรวรรดิโรมันตะวันตกต่อนั่นเอง
ยังจำได้มั้ยคะ ที่จักรวรรดิโรมันตะวันตกล่มสลายลงเมื่อปี ค.ศ.476 แต่ตอนนี้ที่พระเจ้าชาร์เลอมาญรับมงกุฏ เป็นปีค.ศ. 800 สงสัยมั้ยคะว่าแล้วจักรวรรดิโรมันไปอยู่ไหน
…นู่นค่ะ… ย้ายไปอยู่จักรวรรดิโรมันตะวันออกตั้งนานแล้วค่ะ ตั้งแต่ค.ศ.330 ที่ตั้งเมืองหลวงใหม่ชื่อ คอนสแตนติโนเปิล ไงคะ
ต่อมาจึงได้มีการกำหนดว่าผู้ที่จะเป็นจักรพรรดิ จะต้องได้ได้รับการราชาภิเษกจากสมเด็จพระสันตะปาปาเท่านั้น
หลังจากนั้น ก็ได้พยายามฟื้นฟูจักรวรรดิโรมันตะวันตกนี้ขึ้นมาใหม่ แต่การปกครอง ธรรมเนียม วัฒนธรรม เชื้อสาย และกฏหมายต่างๆไม่ได้เกี่ยวกันเลย ก็เลยใช้ชื่อเป็น จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ (Holy Roman Emperor) แทน
แต่ยังค่ะ… ยังไม่ได้ตั้งในทันทีนะ
คือต่อมา หลังจากที่พระเจ้าชาร์เลอมาญสวรรคตลง อาณาจักรก็ถูกแบ่งให้ลูกๆทั้ง 3 คน (ซึ่งบางส่วนก็อยู่ในดินแดนเยอรมนีในปัจจุบัน)
เหตุผลที่ต้องแบ่งให้ลูกๆเท่าๆกัน ไม่ได้ให้ลูกคนโตสืบบัลลังค์ ก็เพราะว่า มันเป็นธรรมเนียมของชาวเจอร์มานิกค่ะ
เหตุนี้สาเหตุที่ทำให้ ราชวงศ์คาโรแลงเจียนต้องล่มสลาย
ในเมื่อขาดกษัตริย์ ผู้นำเผ่าทั้งสี่ (แซกโซนี บาวาเรีย ฟรังโคเนีย สวาเบีย) ก็ได้ตกลงเลือก ดยุกเฮนรีแห่งแซกโซนี ให้เป็นกษัตริย์แห่งเยอรมนี
ต่อมาในปีค.ศ.962 พระเจ้าออตโต (โอรสของดยุกเฮนรี แห่งแซกโซนี) ก็ได้รับการสวมมงกุฏจากพระสันตะปาปา เป็นจักรพรรดิออตโตที่1 (Otto I)
จึงถือว่า จักรพรรดิออตโตที่1 เป็นจักรพรรดิองค์แรก แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์
นี่ไงค่ะ…ตั้งเป็นจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์แล้ว (ชื่อยาวจริงๆ)
จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ถูกตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อปี ค.ศ.962 – ค.ศ.1806 ซึ่งในช่วงแรกๆจะเรียกว่า “ราชอาณาจักรแห่งชาวแฟรงก์ตะวันออก” หรือ “อาณาจักรแฟรงก์” ต่อมาชื่ออย่างเป็นทางการก็คือ จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์แห่งชาติเยอรมัน
ข้อมูลจาก https://th.wikipedia.org/wiki/จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์
จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ผนวกรวมกับราชอาณาจักรเบอร์กันดี
ต่อมาในปีค.ศ.1033 ราชอาณาจักรเบอร์กันดี ก็ถูกผนวกรวมกับ จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ทำให้จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์มีอาณาเขตกว้างขึ้น ทั่วทั้งยุโรปกลางเลยค่ะ
ขอขยายความเกี่ยวกับ “ราชอาณาจักรเบอร์กันดี” กันนิดนึงนะคะ
คือ ราชอาณาจักรเบอร์กันดี (Kingdom of Burgundy) จะมีอยู่ด้วยกัน 2 ช่วงค่ะ คือราชอาณาจักรเบอร์กันดีที่หนึ่ง และ ราชอาณาจักรเบอร์กันดีที่สอง
ราชอาณาจักรเบอร์กันดีที่หนึ่ง เป็นดินแดนของกลุ่มชนเจอร์มานิกตะวันออก
ราชอาณาจักรเบอร์กันดีที่สอง เป็นดินแดนที่ชาวแฟรงก์ ที่อยู่บริเวณอาร์ล (ตอนใต้ของราชอาณาจักรเบอร์กันดีที่หนึ่ง) พิชิตมาได้ และปกครองตนเองอย่างอิสระมาตลอด (ค.ศ.933 – ค.ศ.1378)
หลังจากที่มีการรวบรวมดินแดนของเบอร์กันดีให้เป็นแผ่นเดียวกันสำเร็จ ก็ได้มีการก่อตั้ง ราชอาณาจักรอาร์ลส์ (Kingdom of Arles) ขึ้นมาในปี ค.ศ.937 และมีการขึ้นครองราย์สืบต่อมาจนมาถึง รูดอล์ฟที่3
ให้นึกภาพง่ายๆว่า ราชอาณาจักรอาร์ลส์ ก็อยู่แถวๆตะวันตกของสวิตเซอร์แลนด์ ฝรั่งเศส และอิตาลีบางส่วนนะคะ
เมื่อรูดอล์ฟที่3 แห่งเบอร์กันดี เสด็จสวรรคต ในปีค.ศ.1032 ราชอาณาจักรอาร์ลส์ ก็ถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์
ตอนนั้นจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ อยู่ในรัชสมัยของ สมเด็จพระจักรพรรดิคอนราดที่2
จากนั้น ในปีค.ศ.1178 มีผู้ที่มาครองราชต่อจาก สมเด็จพระจักรพรรดิคอนราดที่2 (ชื่ออะไรไม่รู้นะคะ คงเป็นคนไม่สำคัญมั๊ง) ได้ถือว่าตัวเองเป็นมหากษัตริย์แห่งอาร์ลไปด้วย
https://th.wikipedia.org/wiki/ราชอาณาจักรอาร์ล
https://th.wikipedia.org/wiki/ราชอาณาจักรเบอร์กันดี
จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ผนวกรวมกับโบฮีเมีย
กลับมาต่อกันที่ ปีค.ศ.1033 จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ที่ได้ขยายอาณาเขตกว้างใหญ่ขึ้นมากอยู่แล้ว ก็ยังขยายต่อไปทางตะวันออกอีกเรื่อยๆ จากการออกปราบชาวสลาฟ
จนต่อมา กษัตริย์แห่งโบฮีเมีย ก็เข้ามาสวามิภักดิ์ ทำให้จักวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ที่ใหญ่มากอยู่แล้ว ยิ่งใหญ่มากขึ้นไปอีก
ดินแดนโบฮีเมียในสมัยนั้นก็คือ สาธารณรัฐเช็กในปัจจุบันค่ะ
คือพอกษัตริย์แห่งโบฮีเมีย เข้ามาสวามิภักดิ์กับจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์แล้ว ก็ได้ถูกยกฐานะขึ้นเป็น “ราชอาณาจักรโบฮีเมีย”
แต่ต่อมา ราชอาณาจักรโบฮีเมีย ก็กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิออสเตรีย ต่อมาก็กลายเป็นจักรวรรดิออสเตรีย-อังการี ต่อมาก็ล่มสลายลง กลายเป็น สาธารณรัฐเชคโกสโลวักที่1 จนในปัจจุบันแยกออกเป็น สาธารณรัฐเช็ก
ทำความเข้าใจก่อนนะคะว่า จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ เป็นดินแดนที่กว้างขวางมาก โดยการรวมกันของเผ่า และกลุ่มชนต่างๆ
แต่ละกลุ่มก็จะมีผู้นำ หรือกษัตริย์เป็นของตัวเอง แต่ก็ต้องอยู่ภายใต้จักรพรรดิ์ของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์
ส่วนใครจะได้ขึ้นมาเป็นจักรพรรดิ ก็แล้วจะตกลงกัน โดยแต่ละแคว้นก็จะมีตัวแทนมาออกเสียง พอเลือกได้แล้วก็ให้สมเด็จพระสันตะปาปาเป็นผู้ทำพิธีแต่งตั้งให้เท่านั้น
ปฏิรูปศาสนา
ทีนี้เรากลับมาที่ จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ในศตวรรษที่10 กันนะคะ
ช่วงนั้นจักรพรรดิแห่งโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ก็คือ จักรพรรดิเฮนรี่ที่4 (Henry IV) ซึ่งก็ถือว่าเป็นมหากษัตริย์แห่งเยอรมันด้วย
จักรพรรดิเฮนรี่ที่4 ต้องการจะรวบอำนาจในองค์การศาสนา เป็นต้นเหตุให้จักรพรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ถูกลดอำนาจลง และนำไปสู่สงครามกลางเมืองที่ยาวนานเกือบ 50 ปี
เรื่องมันมีอยู่ว่า…
แต่เดิมที่กิจการของสงฆ์ ก็ต้องอยู่ในอำนาจของสงฆ์ด้วยกัน เช่น การแต่งตั้งบิชอป รวมถึงอธิการอารม ก็ควรต้องเป็นอำนาจของคริสจักร ผ่านการแต่งตั้งจากพระสันตะปาปา ใช่มั้ยคะ
แต่หลังจากการล่มสลาย ของจักรวรรดิโรมันตะวันตก อำนาจในกิจการของสงฆ์ ดันไปตกอยู่ในมือของฆราวาสแทนค่ะ
จริงๆแล้วเมื่อก่อน บิชอปต้องบวชเป็นบาทหลวงมาก่อน แล้วต้องได้รับการแต่งตั้งจากพระสันตะปาปาเท่านั้น
บิชอป (Bishop) มีหน้าที่เป็นประธานในกิจการต่างๆ การแก้ไขความขัดแย้ง และดูแลการเงินภายในคริสตจักร
ส่วนอธิการอาราม (Abbot) เป็นสมณศักดิ์ของนักบวช ถ้าเทียบกับศาสนาพุทธ ก็คือ “เจ้าอาวาส” หรือ “สมภาร” ค่ะ
พอตำแหน่งบิชอป และอธิการอาราม สามารถถูกแต่งตั้งขึ้นได้จากฆราวาส (ก็จักรพรรดิ์น่ะแหล่ะ) ก็ทำให้บิชอปและอธิการอารามทั้งหลาย มั่งคั่งทั้งทรัพย์สินและที่ดิน
และที่เป็นเรื่องใหญ่ก็คือ เขามีการขายตำแหน่งกันได้ด้วยนี่สิคะ อีกอย่างเวลาจักรพรรดิจะแต่งตั้งบิชอป หรืออธิการอาราม เขาก็ต้องเลือกคนที่เป็นพวกตัวเองใช่มั้ยคะ
มันก็เลยส่งผลไปถึงการเลือกพระสันตะปาปาด้วย แล้วพระสันตะปาปาไปแต่งตั้งใครล่ะ ก็ไปแต่งตั้งจักรพรรดิอีกทีไงคะ
สรุปก็แปลว่า พระสันตะปาปาก็เป็นคนของจักรพรรดินั่นเอง
แต่ก็มีกลุ่มนักบวช ที่เรียกว่า นักปฏิรูปเกรกอเรียน (Gregorian Reform) ไม่ยอม และพยายามยึดอำนาจ ให้กลับมาสู่คริสตจักร
ต่อมาในปีค.ศ.1056 เป็นปีที่ พระเจ้าเฮนรี่ที่4 (Henry IV) (บางที่ก็เรียกไฮน์ริชที่4นะคะ) ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์เยอรมัน
(ตอนนั้นยังไม่ได้เป็นจักรพรรดิ ของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์นะคะ แค่ขึ้นเป็นกษัตริย์เฉยๆ เพราะตอนนั้นยังอายุแค่ 6 ขวบเองค่ะ)
นักปฏิรูปเห็นว่าได้จังหวะ เพราะกษัตริย์ยังเด็ก ประท้วงไม่ได้ ก็เลยใช้โอกาสนี้แหละปฏิรูปวงการสงฆ์ ทำให้พระสันตะปาปาไม่อยู่ภายใต้อำนาจของฆารวาสอีกต่อไป
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในปีค.ศ.1059 โดยสภาศาสนจักรในกรุงโรม ได้ออกประกาศในสารตราพระสันตะปาปา ชื่อว่า “อิน โนมิเน โดมีนี” (In Nomine Domini)
ออกโดยสมเด็จพระสันตะปาปานิโคลัสที่2 มีใจความสำคัญว่า “ผู้นำฆราวาส ไม่มีสิทธิในการเลือกพระสันตะปาปา”
และได้มีการตั้งคณะพระคาร์ดินัล (College of Cardinals) ขึ้นมา เพื่อให้เป็นตัวกลางในการเลือกตั้งพระสันตะปาปา และได้สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
ข้อมูลจาก https://th.wikipedia.org/wiki/ข้อขัดแย้งเรื่องการสถาปนาสมณศักดิ์
จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์เสื่อมถอย
เรากลับมาที่จักรพรรดิเฮนรีที่4 ที่โตแล้วนะคะ ไม่ใช่เด็กๆแล้ว ตอนนี้นอกจากจะเป็นกษัตริย์ของเยอรมันแล้ว ยังเป็นจักรพรรดิของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ด้วย
ทีนี้พอโตแล้วก็ประท้วงได้แล้วใช่มั้ยคะ แล้วก็ยังพยายามรวบอำนาจในองค์การศาสนา ต้องการให้ตนเองเป็นฝ่ายแต่งตั้งบิชอป และสมณศักดิ์ต่างทางศาสนา
แต่ฝ่ายพระสันตะปาปาก็ต้องไม่ยอมแน่ๆอยู่แล้ว จนในที่สุดจักรพรรดิเฮนรี่ที่4 ก็เป็นฝ่ายพ่ายแพ้ และถึงขั้นถูกขับออกจากศาสนา ในปีค.ศ.1072
ซึ่งโทษในการถูกขับออกจากศาสนา (Investiture Controversy) ในสมัยนั้น ถือว่าร้ายแรงมาก ร้ายแรงซะยิ่งกว่าโดนประหารซะอีกค่ะ
ในปีค.ศ.1077 พระเจ้าเฮนรีต้องซมซานเดินเท้าเปล่า ท่ามกลางพายุ เพื่อมาขอขมาพระสันตะปาปา แต่ก็ไม่ได้ช่วยอะไร
เหตุการณ์นี้เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นว่า ฝ่ายศาสนามีชัยเหนือฝ่ายฆราวาส
นอกจากถูกขับออกจากศาสนาแล้ว ก็ยังโดนปลดออกจากตำแหน่งด้วย ทีนี้ล่ะบรรดาขุนนางทั้งหลายก็แย่งอำนาจกันสิคะ จนทำให้มีการแยกตัวของดินแดนอีกด้วย
จากนั้นอำนาจของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ก็เริ่มเสื่อมถอยลง จนในปีค.ศ.1122 ทั้งสองฝ่ายคือ ฝ่ายศาสนา และฝ่ายฆราวาส ก็ได้สงบศึกกันจนได้
ราชวงศ์โฮเฮนชเตาเฟิน (House of Hohenstaufen หรือ The Staufer) (ค.ศ.1138 – ค.ศ.1254)
ในสมัยของจักรพรรดิเฟรเดอริคที่1 (Frederick I) แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งมาจากราชวงศ์โฮเฮนชเตาเฟิน
ทรงพยายามหยุดสงครามระหว่างพวกขุนนางที่ก่อกบฏ แล้วตั้งดยุกเฮนรีแห่งแซกโซนี (Henry the Lion, Duku of Saxony) ให้เป็นดยุกแห่งบาวาเรีย
จากนั้นจักรพรรดิเฟรเดอริคที่1 ก็บุกอิตาลี เพื่อปราบกบฏ และทำสงครามกับพระสันตะปาปา
แต่เนื่องจากตอนนั้น อิตาลีได้มีการรวมตัวกันเป็น “สันนิบาตลอมบาร์ด” (Lombard League) เพื่อต่อต้านจักรพรรดิและสนับสนุนพระสันตะปาปา ทำให้จักรพรรดิเฟรเดอริคที่1 ต้องพ่ายแพ้
อีกทั้งดยุกเฮนรี ที่จักรพรรดิเฟรเอริคที่1 อุตส่าห์แต่งตั้งมาเองกับมือ ก็ไม่ยอมมาช่วยอีก ทำให้ทรงแค้นและยกบาวาเรียให้ ตระกูลวิตเตลสบาค (Wittlesbach) แทน อีกทั้งยังแตกแคว้นแซกโซนีออกเป็นหลายส่วนอีกด้วย
ต่อมา จักรพรรดิเฟรเดอริคที่2 (Frederick II) ก็พยายามจะยึดอิตาลีอีกครั้ง โดยมอบอำนาจให้เจ้าครองแคว้นต่างๆ จุดนี้ทำให้เจ้าครองแคว้นต่างๆในเยอรมนี เริ่มแยกตัวออกไป เกิดการแตกกระจายขึ้น และสุดท้ายก็ทำให้พระสันตะปาปาเอาชนะจักรพรรดิได้
จักรพรรดิเฟรเดอริคที่2 ก็เลยหันไปขยายอำนาจทางเหนือแทน และได้ทำสงครามกับชาวบอลติก ทำให้แถบนั้นได้รับอิทธิพลของเยอรมัน และคริสต์ศาสนาไปด้วย
แต่ในที่สุด หลังจากที่จักรพรรดิเฟรเดอริคที่2 สิ้นพระชนม์ ก็ทำให้ราชวงศ์โอเฮนชเตาเฟินล่มสลายไปด้วย จนทำให้ช่วงนั้น จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ กลายเป็นดินแดนที่ไร้จักรพรรดิ
พระเจ้าเฮนรีแห่งโบฮีเมีย แห่งลักเซมเบิร์ก
พอจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ไร้ผู้นำ ดยุกรูดอล์ฟแห่งออสเตรีย (Rudolf of Habsburg) ก็ได้รับเลือกเป็นกษัตริย์แห่งเยอรมัน ในปีค.ศ.1273 แต่ไม่ได้สวมมงกุฏเป็นจักรพรรดินะคะ ทำให้พระเจ้ารูดอล์ฟ มีอำนาจเฉพาะในแคว้นออสเตรียเท่านั้น
โดยมีการผลัดกันเป็นกษัตริย์แห่งเยอรมัน ในสามตระกูล ได้แก่ ตระกูลฮับส์บูร์ก (Habsburg) ตระกูลลักแซมเบิร์ก(Luxembourg) และตระกูลวิตเตลสบาค(Wittelsbach)
จนกระทั่งในปีค.ศ.1312 พระเจ้าเฮนรีแห่งโบฮีเมีย จากตระกูลลักเซมเบิร์ก ได้รับการสวมมงกุฏเป็นจักรพรรดิ ทำให้จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ มีจักรพรรดิอีกครั้ง
อย่าเพิ่งดีใจค่ะ แค่ได้รับการสวมมงกุฏเท่านั้น แต่ก็ยังไม่มีอำนาจเทียบเท่าจักรพรรดิยุคก่อนๆ ยังคงมีอำนาจได้แต่ในแคว้นโบอีเมียเท่านั้นเองค่ะ
จากเหตุการณ์นี้ เป็นสาเหตุที่ทำให้เยอรมนี เริ่มแตกออกเป็นแคว้นเล็กแคว้นน้อยมากขึ้น และไม่สามารถรวมกันได้อีก 600 ปี
กำเนิดสหราชรัฐแห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์
ในปีค.ศ.1350 ได้มีกาฬโรคระบาดเข้ามายังเยอรมนี ทำให้ผู้คนล้มตายไปหลายล้านคนเลยทีเดียว
ต่อมาในปีค.ศ.1356 ได้มีการปรับปรุงระบบการปกครอง ของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ โดยมีการแต่งตั้งเจ้านครรัฐผู้คัดเลือก (Prince-elector หรือ Electors) ทั้ง 7 องค์ ประกอบด้วยบรรพชิตสามองค์ และขุนนางสี่คน
ตั้งแต่ค.ศ.1437 พระเจ้าเฟรเดอริคที่3 แห่งราชวงศ์ฮับส์บูร์ก ได้ขึ้นเป็นจักรพรรดิ เฟรเดอริคที่3 ปกครองจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ทำให้ราชวงศ์ฮับส์บูร์ก ได้ปกครองจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ไปอีก400ปี จนกระทั่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ล่มสลายลง
จนมาถึงในปีค.ศ.1495 จักรพรรดิมักซีมีเลียน ได้มีการปฏิรูปจักรวรรดิ (Reichsform) โดยแบ่งรัฐออกเป็นกลุ่มๆ และตั้งศาลสูงขึ้นมา จึงได้เกิดชื่อจักรวรรดิใหม่ขึ้นมาชื่อว่า “สหราชรัฐแห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์” (ในภาษาเยอรมันเรียกว่า Reichskreis ส่วนภาษาอังกฤษเรียกว่า Imperial Circle)
กำเนิดนิกายลูเทอรัน (Lutheranism)
ต่อมาในปีค.ศ.1519 พระเจ้าชาร์ลส์ที่1 แห่งสเปน ได้ขึ้นเป็นจักรพรรดิของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ จึงมีการรวมสองอาณาจักรเข้าด้วยกัน ทำให้อาณาเขตของราชวงศ์ฮัปสบูร์กใหญ่ขึ้นไปอีก
ในค.ศ. 1517 ช่วงนี้มีการปฏิรูปศาสนา โดยเรื่องมีอยู่ว่า…
มีพระสันตะปาปาองค์นึง ต้องการหาเงินมาสร้างวิหาร ก็เลยคิดมุกขายบัตรไถ่บาปขึ้นมาในเยอรมันี โดยอ้างว่าใครซื้อบัตรนี้ ก็จะได้รับการไถ่บาป (ถ้าเอาตามสมัครใจก็คงไม่มีปัญหา แต่เขาบังคับสิคะ เลยเป็นเรื่อง)
ก็เลยเกิดการประท้วงจากทั้งชาวบ้านและขุนนาง รวมถึงชาวสงฆ์ทั้งหลายด้วย
โดยมี มาร์ติน ลูเธอร์ (Martin Luther) เข้าไปตอกตะปูคำประท้วง 95 ข้อ ไว้หน้าโบสถ์ในเมืองวิทเทนเบิร์ก(Wittenburg)
ทำให้เกิด นิกายลูเธอรัน (Lutheranism) ขึ้น แผ่ขยายไปทั่วเยอรมนี ถือว่าเป็นนิกายสาขาแรกของโปรเตสแตนต์
ขยายความนิดนึงนะคะ คือว่านิกายโปรเตสแตนต์ เป็นนิกายที่แยกออกมาจากคริสตจักรโรมันคาทอลิก นำโดยมาร์ติน ลูเธอร์
โปรเตสแตนต์ แปลว่า “ผู้ประท้วง” หรือ “ผู้คัดค้าน”
แต่มาร์ติน ลูเธอร์ ก็ได้แตกสาขาของโปรเตสแตนต์ ออกมาอีก กลายเป็น “นิกายลูเธอรัน”
ชาวบ้านที่เข้านับถือนิกายลูเธอรัน ได้ก่อกบฏขึ้นในค.ศ.1524 ต่อเจ้านคร ในสงครามที่ชื่อว่า “สงครามชาวบ้าน” (Peasants’ War)
แต่เจ้านครก็ปราบปรามกบฏชาวบ้านได้อย่างรวดเร็ว แล้วยังตั้งกลุ่มมาบังหน้า แล้วอ้างว่าเพื่อปกป้องนิกายโปรแตสแตนต์ แต่จริงๆก็เพื่อทำลายอำนาจของจักรพรรดิ
ช่วงนั้นจักรพรรดิชาร์ลยังยุ่งอยู่กับสงครามต่างประเทศ ทำให้นิกายโปรแตสแตนต์ค่อยๆแทรกซึมฝังรากลึกลงไปในเยอรมนี
จนกระทั่งในค.ศ.1546 จักรพรรดิชาร์ล เริ่มว่างแล้ว สามารถมาปราบกบฏขุนนางโปรเตสแตนต์ จนเกิดสงครามที่เรียกว่า สงครามชมาลคาดิค (Schmalkadic War)
แต่ต่อมาในปี ค.ศ.1548 ก็ได้ทำสนธิสัญญาสันติภาพออกซ์บูร์ก (Peace of Augsburg) เป็นการยอมรับนิกายลูเธอร์ (แต่ไม่ยอมรับนิกายอื่น) และบังคับให้คนในรัฐนับถือศาสนาตามเจ้าครองแคว้น
สงครามสามสิบปี (Thirty Years’ War)(ค.ศ.1618 – ค.ศ.1648)
แม้ว่าสนธิสัญญาสันติภาพออกซ์บูร์กจะสามารถยุติความบาดหมางได้ แต่ก็ไม่ได้แก้ที่ต้นเหตุความขัดแย้งทางศาสนา แถมยังทำให้ปัญหามันซับซ้อนมากขึ้น จากการแพร่ขยายของลัทธิคาลวิน ไปทั่วเยอรมนีในปีถัดไป
ขอขยายความเกี่ยวกับสงครามสามสิบปีกันหน่อยนะคะ เพราะเหตุการณ์นี้เป็นเหตุการณ์สำคัญที่ทำให้ จักรวรรดิ์โรมันอันศักดิ์สิทธิ์ต้องล่มสลายลงค่ะ
สงครามสามสิบปี เป็นสงครามที่ก่อความเสียหายมากที่สุด และยาวนานสงครามหนึ่งในประวัติศาสตร์ยุโรป ซึ่งส่วนใหญ่จะสู้รบกันในดินแดนเยอรมนี และมีผู้เข้าร่วมเกือบทุกประเทศในยุโรป
ต้นเหตุของความขัดแย้ง และจุดประสงค์ของการเข้าร่วม มีความซับซ้อน และมีเหตุผลในการทำสงครามของฝ่ายต่างๆ เกินขึ้นมากมาย
แต่แรกสุดคือ เกิดจากความขัดแย้งระหว่างนิกายโปรเตสแตนต์ และโรมันคาทอลิก ในจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์
แต่ก็มีคลื่นใต้น้ำเป็นความขัดแย้งทางการเมืองด้วยเหมือนกัน
จนในที่สุด สงครามก็ได้ขยายออกไป เป็นความขัดแย้งทั่วยุโรป
แต่หลักๆแล้ว จะมาจากความขัดแย้งระหว่าง ฝรั่งเศส กับ ราชวงศ์ฮับส์บูร์ก ซึ่งทั้งสองฝ่ายต่างก็เป็นมหาอำนาจทั้งคู่
จนทำให้เหตุการณ์บานปลาย เป็นสงครามที่ไม่ได้มีเหตุผลใดเกี่ยวข้องกับศาสนาเลยด้วยซ้ำ
การต่อสู้ส่วนใหญ่ในสงครามสามสิบปี เป็นการต่อสู้โดยกองทัพของทหารรับจ้าง
สงครามครั้งนี้สร้างความเสียหายต่อพื้นที่ และก่อให้เกิดความอดอยาก รวมถึงโรคระบาด ส่งผลให้ประชากรของรัฐต่างๆ ลดลงไปมาก
แถมการศึกสงครามที่ยาวนานก็ต้องมีค่าใช้จ่ายสูง ทำให้รัฐต่างๆต้องล้มละลายไปตามๆกัน
สุดท้ายสงครามสามสิบปีก็ยุติลงด้วย สนธิสัญญามึนสเตอร์ (Teaty of Münster) ที่เป็นส่วนของสนธิสัญญาสันติภาพเวสต์ฟาเลีย (Peace of Westphalia)
ข้อมูลจาก https://th.wikipedia.org/wiki/สงครามสามสิบปี
จุดจบของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ
เนื่องจากสงครามสามสิบปี ทำให้เยอรมนีราบเป็นหน้ากลอง ประชากรก็ลดลงมาก ส่วนสนธิสัญญาสันติภาพเวสฟาเลีย ก็ทำให้อำนาจของเจ้าครองแคว้นลงดลง
ทำให้ออสเตรียแผ่อิทธิพลเข้ามาในเยอรมนี แต่ก็ต้องแข่งขันกับสวีเดน ที่ได้ดินแดนทางเหนือของเยอรมนีไปมากแล้วด้วย
ส่วนทางตะวันตก พระเจ้าหลุยส์ทีี่14 แห่งฝรั่งเศส ก็พยายามแผ่อาณาเขตในบริเวณลุ่มแม่น้ำไรน์อีกด้วย
กลายเป็นว่าเยอรมนีเจอเบียดรอบทิศเลย ตะวันออกก็เจอออสเตรีย เหนือก็เจอสวีเดน ตะวันตกก็เจอฝรั่งเศส
แต่ในเยอรมนี ก็ยังคงเหลือแคว้น บรานเดนบวร์ก-ปรัสเซีย ที่ยังมีอำนาจอยู่
ต่อมาในปีค.ศ.1701 ก็ได้เลื่อนสถานะเป็น อาณาจักรใน ปรัสเซีย (Kingdom in Prussia) จนขับไล่สวีเดนที่อยู่ทางเหนือของเยอรมนีได้ และสะสมดินแดนเพิ่มขึ้น จนเปลี่ยนชื่อเป็น อาณาจักร แห่ง ปรัสเซีย (Kingdom of Prussia) ในสมัยของพระเจ้าเฟรเดอริคมหาราชแห่งปรัสเซีย
ในปีค.ศ.1740 จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ตอนนั้น มีจักรพรรดิเป็นผู้หญิง(จักรพรรดินีมาเรีย เธเรซา) ซึ่งผิดกฏซาลิค(Salic Law)
พระเจ้าเฟรเดอริค ก็เลยเห็นโอกาสทอง ในการบุกออสเตรีย เข้าปลดพระนางออกจากตำแหน่ง และได้ยึดแคว้นไซเลเซีย (Silesia)มาจากออสเตรียได้ ทำให้ดินแดนของปรัสเซียขยายใหญ่ขึ้นอีก
ทำให้ประเทศรอบๆกลัวว่า ปรัสเซียจะมีอำนาจมากขึ้นอีก เลยรวมตัวกันทำสงครามกับปรัสเซีย จนเป็น สงครามเจ็ดปี(Seven Year’s War)
โดยปรัสเซียร่วมมือกับบริเตน ต่อสู้กับสามมหาอำนาจ ซึ่งได้แก่ ฝรั่งเศส ออสเตรีย และรัสเซีย
และสุดท้ายปรัสเซียก็เป็นฝ่ายชนะสงคราม ทำให้อาณาจักรปรัสเซียแผ่ขยายมากขึ้นอีก
แต่ในขณะเดียวกัน ทางด้านฝรั่งเศส ก็ได้มีการ ปฏิวัติฝรั่งเศส ขึ้นในปีค.ศ.1789
ต่อมาในปีค.ศ.1804 นโปเลียนได้ตั้งตัวเป็นจักรพรรดิ ทำให้ชาติต่างๆรวมตัวกันต่อต้านเป็นครั้งที่3 แต่ก็พ่ายแพ้แก่นโปเลียนอยู่ดี
จนในที่สุดปีค.ศ.1805 จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ก็ถูกล้มล้างลง ส่วนจักรพรรดิแห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ก็กลายเป็นแค่จักรพรรดิออสเตรีย
สำหรับแคว้นต่างๆที่เหลือ ก็รวมตัวกันจนเป็น สมาพันธรัฐแห่งไรน์ (Confederation of the Rhine)(ค.ศ.1806 – ค.ศ.1813) ซึ่งมีฐานะเป็นรัฐบริวารของนโปเลียน
ส่วนแคว้นต่างๆ เช่น แซกโซนี บาวาเรีย วืตเตมบูร์ก ก็ได้เลื่อนฐานะเป็นอาณาจักร แต่ต้องส่งทัพเข้าช่วยฝรั่งเศสนะ แล้วฝรั่งเศสก็จะให้การปกป้องเป็นการตอบแทน (ปกป้องจากใครเนี่ยะ ปกป้องจากตัวฝรั่งเศสเองเนี่ยนะ)
ในปีค.ศ.1807 ปรัสเซียแพ้ฝรั่งเศส จึงต้องเสียดินแดนทางตะวันออกของแม่น้ำเอลเบ ต่อมากลายเป็น แคว้นวอร์ซอว์ รวมถึงทำให้เยอรมนีต้องตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของฝรั่งเศสไปด้วย
แต่ต่อมาในปีค.ศ.1813 นโปเลียนได้พ่ายแพ้สงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตร ทำให้อำนาจของฝรั่งเศสจบลง ส่งผลให้สมาพันธรัฐแห่งไรน์ถูกยุบไปด้วย
บรรดาชาติต่างๆในยุโรปจึงรวมตัวกันฟื้นฟูระบอบประชาธิปไตยในยุโรป ได้ก่อตั้ง คองเกรสแห่งเวียนนา (Congress of Vienna) ขึ้น
กำเนิดสมาพันธรัฐเยอรมัน (ค.ศ.1815 – ค.ศ.1866)
เมื่อคองเกรสแห่งเวียนนา ให้แคว้นต่างๆในจักรวรรดิโรมันเดิม รวมตัวกลายเป็น สมาพันธรัฐเยอรมัน (German Confederation)
โดยมีจักรพรรดิออสเตรียเป็นประมุข จัดตั้งสภาสมาพันธรัฐ(Federal Assembly) ที่เมืองแฟรงก์เฟิร์ต
ส่วนทางด้านปรัสเซีย ก็ได้รับการฟื้นฟูดินแดนคืน มีผลทำให้ออสเตรีย และปรัสเซียเป็นสองมหาอำนาจ ที่แผ่อิทธิพลเหนือเยอรมนี
ส่วนเรื่องระบอบการปกครอง แม้สภาคองเกรสแห่งเวียนนา จะพยายามฟื้นระบบสมบูรณายาสิทธิราชย์ แต่ก็สายไปแล้ว
เพราะอิทธิพลของฝรั่งเศสสมัยนโปเลียน ที่นำความคิดเสรีนิยม (Liberalism) ฝังรากลงไปในเยอรมนีไปแล้ว
ระบอบกษัตริย์ไม่มีทางกลับมาได้อีก ถึงขั้นว่านักศึกษาหัวก้าวหน้า ได้รวมกันเผาทำลายหนังสือที่สนับสนุนระบอบกษัตริย์ และมีการสังหารอาจารย์ที่ตำหนิแนวคิดเสรีนิยม และชาตินิยม (Nationalism) ในค.ศ.1817-1819
จนทำให้พวกเสรีนิยมถูกลงโทษ แต่ก็เก็บความแค้นไว้
ต่อมาในปีค.ศ.1848 เกิดการปฏิวัติทั่วยุโรป(รวมถึงเยอรมนีด้วย) เรียกว่า การปฏิวัติเดือนมีนาคม (March Revolution) นำโดย ออตโต ฟอน บิสมาร์ก
บรรดาพวกเจ้าครองแคว้นต่างๆ ก็กลัวว่าตัวเองจะโดนเหมือนกษัตริย์ฝรั่งเศส ก็เลยยอมจำนน
แต่ในขณะที่คณะปฏิวัติกำลังจะร่างรัฐธรรมนูญที่สภาแฟรงเฟิร์ต และจะมอบบัลลังก์ให้พระเจ้าเฟรเดอริค วิลเฮมที่4 แห่งปรัสเซียไปครอง แต่ปรากฏว่าทรงปฏิเสธ
ทำให้การปฏิวัติล้มเหลว และจบลงทันที พวกเจ้าครองแคว้นทั้งหลายก็เลยได้ทีต่อต้าน ทำให้คณะปฏิวัติสลายตัวไป (เหมือนจะจบกันง่ายนะ แต่จริงๆมันก็มีรายละเอียดปลีกย่อยอีกมากนะคะ)
แผนที่สมาพันธรัฐเยอรมัน
สีเขียวเข้ม = Member states
กำเนิดสมาพันธรัฐเยอรมันเหนือ (ค.ศ.1867 – ค.ศ.1871)
ถึงจะบอกว่ากำจัดพวกคณะปฏิวัติได้ แต่สงครามก็ยังดำเนินอยู่
สงครามที่กำลังดำเนินอยู่มีอยู่หลักๆ 3 ที่ได้แก่ สงครามปรัสเซีย-เดนมาร์ก , สงครามปรัสเซีย-ออสเตรีย และสงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซีย
ระหว่างนั้นก็ได้มีการตั้ง สมาพันธรัฐเยอรมันเหนือ (North German Confederation) ขึ้น ในปีค.ศ.1867 แต่ต่อมาในปีค.ศ.1870 รัฐเยอรมันทางใต้(หมายถึงรัฐบาวาเรีย) ก็มาเข้าร่วมด้วย (แต่ออสเตรียไม่ขอร่วม ก็มีสงครามกันอยู่นี่คะ)
แผนที่สมาพันธรัฐเยอรมันเหนือ
สีแดง = อาณาจักรปรัสเซีย หรือ สมาพันธรัฐเยอรมันเหนือ
สีส้ม = รัฐบาวาเรีย ที่มาเข้าร่วมทีหลัง
กำเนิดจักรวรรดิเยอรมนี (German Empire)(ค.ศ.1871- ค.ศ.1918)
ในที่สุดปีค.ศ.1871 เยอรมันก็เอาชนะสงครามทั้งสามได้ และจักรพรรดิวิลเฮล์มที่1 ก็ได้ตั้ง จักรวรรดิเยอรมนี ขึ้น รวมถึงตั้งตนเองเป็นจักรพรรดิแห่งจักรวรรดิเยอรมันด้วย ที่พระราชวังแวร์ซาย
ช่วงนี้เป็นช่วงที่เยอรมนีรุ่งเรืองมาก ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การทหาร และด้านอื่นๆ จะเรียกว่าเป็นมหาอำนาจใหม่แห่งยุโรปก็ว่าได้ เพราะมีอำนาจเทียบได้กับจักรวรรดิอังกฤษ
ต่อมาในปีค.ศ.1914 จักรวรรดิเยอรมนี มีอาณานิคมไปทั่ว ทั้งในแอฟริกา(บางส่วน) จีน(ชิงเต่า) ปาปัวนิวกินี(ตอนเหนือ) รวมถึงพวกหมู่เกาะบางแห่งในมหาสมุทรแปซิฟิกด้วย
ในเวลาต่อมาจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี เกิดไปมีปัญหากับเซอเบีย ทำให้เกิดสงครามขึ้น และจักรวรรดิเยอรมันก็เลยร่วมด้วยในฐานะที่เป็นมหาอำนาจกลาง จนกลายเป็น สงครามโลกครั้งที่1(ค.ศ.1914- ค.ศ.1918)
แอดมินเคยฟังรายการ หรืออ่านจากไหนจำไม่ได้แล้ว นานมาก (ดังนั้นไม่มีหลักฐานนะ เชื่อก็ได้ไม่เชื่อก็ได้)
เขาบอกว่าที่จักรวรรดิเยอรมันเข้าร่วมสงครามด้วย ทั้งๆที่ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับตัวเองเลย ก็เพราะใจจริงอยากฮุบออสเตรียอยู่ตั้งนานแล้ว แต่อยู่ๆจะไปรังแกโต้งๆก็เดี๋ยวจะโดนโลกประนาม
พอเห็นว่านี่แหล่ะคือโอกาส ก็เลยทำตัวเป็นพี่ใหญ่ เข้ามาช่วยน้องๆ (เหมือนอเมริกาตอนนี้เลยแฮะ) เพื่อหวังว่าจบสงครามแล้ว ตัวเองก็จะได้ครอบครองออสเตรีย แถมพ่วงฮังการีมาอีกด้วย
ในสงครามครั้งนี้ เยอรมันได้มีการผลิตแก๊สพิษขึ้นมาใช้ด้วย ซึ่งถือว่าเป็นการกระทำที่โหดเหี้ยมมาก
แต่ระหว่างสงคราม พระโอรสของพระเจ้าวิลเฮล์มที่2 ก็ได้ขอร้องพระบิดาให้สงบศึก แต่ก็ไม่สำเร็จ
จนช่วงท้ายที่อเมริกาเข้าร่วมสงครามด้วย ทำให้เยอรมันเริ่มเสียเปรียบ แล้วที่น่าเจ็บใจก็คือ ออสเตรีย-ฮังการี ที่เยอรมันอุตส่าห์เข้ามาช่วย(หวังดี ประสงค์ร้าย) ก็เกิดประกาศยอมแพ้อีก
ตอนนี้เยอรมันก็เลยกลายเป็นหัวเดียวกระเทียมลีบไปแล้ว สู้อย่างโดดเดี่ยวแต่ก็ไม่ยอมถอยนะ
แต่สุดท้ายในปีค.ศ.1918 เยอรมันก็แพ้สงคราม และเป็นจุดจบของจักรวรรดิเยอรมนีในที่สุด
กำเนิดสาธารณรัฐไวมาร์ (Weimar Republic)(ค.ศ.1919 – ค.ศ.1933)
หลังจากที่จักรวรรดิเยอรมนีล่มสลาย รัฐสภาก็ได้มีการตั้งสาธารณรัฐไวมาร์ และมีการประชุมกันเพื่อเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้น ในปีค.ศ.1919
ส่วนชื่อไวมาร์ ก็มาจากชื่อ เมืองไวมาร์ นั่นเอง แต่คำว่า “สาธารณรัฐไวมาร์” เป็นคำที่นักประวัติศาสตร์ตั้งขึ้นมาเอง จริงๆแล้วไม่ได้เคยถูกใช้อย่างเป็นทางการในช่วงนั้นเลย แต่เขาจะเรียกตัวเองว่า “Deutsches Reich” ส่วนภาษาอังกฤษจะเรียกว่า “German Reich”
เนื่องจากสนธิสัญญาแวร์ซายน์ เป็นสัญญาที่กดขี่เยอรมันมาก โดยเฉพาะเรื่องของค่าปฏิกรรมสงคราม และมาตรการอื่นๆอีกมากมาย ซึ่งสร้างความอึดอัดให้ชาวเยอรมัน และทำให้สาธารณรัฐไวมาร์อ่อนแอเป็นอย่างมาก
ต่อมาหลังเหตุการณ์ตลาดหุ้นวอลสตรีทล้ม ทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจโลกตกต่ำ โดยเฉพาะเศรษฐกิจยุโรป ทำให้เกิดพรรคนาซีของฮิตเลอร์ ที่มีนโยบายกอบกู้เยอรมนีจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ
กำเนิดนาซีเยอรมนี (Nazi Germany) หรือ จักรวรรดิที่สาม (Third Reich) (ค.ศ.1933 – ค.ศ.1945)
“พรรคกรรมกรชาติสังคมนิยมเยอรมัน” ซึ่งมี อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ เป็นผู้นำ บางแห่งเรียกเยอรมันยุคนี้ว่า “จักรวรรดิของฮิตเลอร์”
ช่วงนั้นเยอรมนีกลายเป็นรัฐเผด็จการเบ็ดเสร็จ ทุกอย่างอยู่ในการควบคุมของรัฐ รวมถึงการพาประเทศเริ่มต้นสงครามโลกครั้งที่2 (ค.ศ.1939 – ค.ศ.1945) อีกด้วย
แต่สุดท้าย นาซีเยอรมนี ก็ต้องล่มสลายลง หลังพ่ายแพ้สงคราม ในปีค.ศ.1945 สงครามโลกครั้งที่2 จึงได้ยุติลง
กำเนิดสงครามเย็น (Cold War) (ค.ศ.1947 – ค.ศ.1991)
หลังจากจบสงครามโลกครั้งที่2 (ค.ศ.1945) ก็นึกว่าเรื่องร้ายๆจะจบลงเหมือนกัน แต่โลกไม่ได้สงบอย่างที่คิดค่ะ เพราะประเทศที่ชนะสงคราม ก็ย่อมต้องการผลตอบแทน
ซึ่งประเทศมหาอำนาจ (ที่เคยเป็นพันธมิตรกันตอนสงครามโลกครั้งที่2) ได้แก่ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส และสหภาพโซเวียต
ได้ตกลงแบ่งประเทศเยอรมนีออกเป็น 4 ส่วน โดยกรุงเบอร์ลินที่เป็นเมืองหลวง มีความสำคัญที่สุด ก็เลยถูกแบ่งเป็น 4 ส่วนเช่นกัน (เหมือนเค้กที่มีสตรอเบอร์ลิน เอ้ย…สตรอเบอร์รี่อันเดียว)
———————————————————–
แผนที่การแบ่งเยอรมนี หลังสงครามโลกครั้งที่2
ภาพนี้ให้ดูที่ สีน้ำเงิน ส้ม เขียว แดง นะคะ
สีน้ำเงิน คือ ฝรั่งเศส
สีส้ม คือ สหรัฐอเมริกา
สีเขียว คือ อังกฤษ
สีแดง คือ สหภาพโซเวียต
และจะเห็นว่าตรงกลางของพื้นที่สีแดง จะมีหลายสีอยู่กลุ่มนึงใช่มั้ยคะ นั่นแหละค่ะ คือกรุงเบอร์ลิน ที่ถูกแบ่งเป็น 4 ส่วน
———————————————————–
ในปีต่อมา ดินแดนเยอรมนีในการปกครองของสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และฝรั่งเศส ก็ได้ถูกรวมกันเป็น สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (Federal Republic of Germany) หรือ เยอรมนีตะวันตก (West Germany)
สรุปคือตอนนี้เยอรมนีแบ่งเป็น 2 ส่วนใหญ่ๆนะคะ คือ
เยอรมนีตะวันตก(ดูแลโดยสหรัฐอมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส) และ
เยอรมนีตะวันออก (ดูแลโดยสหภาพโซเวียต)
———————————————————–
แผนที่เส้นทางที่ใช้เข้ากรุงเบอร์ลินของฝั่งตะวันตก
จากภาพจะเห็นว่า เวลาที่คนจากฝั่งตะวันตกจะเข้าไปยังเบอร์ลิน จะอาศัยเส้นทางเครื่องบิน และทางบก ซึ่งก็เป็นเส้นทางที่กำหนดไว้แล้วเท่านั้น
———————————————————–
ช่วงแรกๆ ประชาชนยังสามารถเดินทางไปมา ระหว่างตะวันตกกับตะวันออกได้อย่างอิสระ
แต่พอเวลาผ่านไป ทางตะวันตกได้รับการฟื้นฟูประเทศอย่างรวดเร็ว ส่วนทางตะวันออกกลับตรงกันข้ามแถมรัฐยังฮุบทุกอย่าง ทำให้คนแห่กันไปฝั่งตะวันตก
ในปีค.ศ.1961 มีข่าวลือว่า สหภาพโซเวียตจะปิดกั้นพรมแดน ไม่ให้คนแห่กันอพยพหนีออกไป ทำให้คนว่า 3 ล้านคน รีบแห่กันหนีมากกว่าเดิมอีก
จนในปีค.ศ.1964 ได้มีการเริ่มก่อสร้าง กำแพงเบอร์ลิน ว่ากันว่าแนวกำแพงที่กั้นนี้ มีความยาวเป็นอันดับสองรองจากกำแพงเมืองจีนเลยทีเดียว (จริงๆกำแพงเบอร์ลินไม่ได้ยาวหรอกค่ะ ส่วนที่ยาวก็คือแนวกั้นตรงชายแดนต่างหากค่ะ)
ฝ่ายหนึ่งประนาม อีกฝ่ายภูมิใจ ???
กำแพงเบอร์ลิน ถูกใช้งานเป็นเวลา 28 ปี และมีการปรับปรุงให้แข็งแรงขึ้นถึง 4 ครั้ง
ทั่วโลกประนามกันว่า กำแพงเบอร์ลินเป็นกำแพงที่ปิดกั้นเสรีภาพของประชาชน ในขณะที่ตามปกติแล้ว กำแพงของแต่ละประเทศจะสร้างขึ้นมาเพื่อป้องกันศัตรูจากภายนอก
ในทางกลับกันสหภาพโซเวียตกลับมองว่า กำแพงเบอร์ลิน คือนวัตกรรมชองชนชาติ(ภูมิใจที่คิดนวัตกรรมการก่อสร้างได้แข็งแกร่งสุดๆนั่นเอง)
อ่านในวิกิเพียเดียแล้ว แอดมินก็รู้สึกขำแห้งๆ(ขำไม่ออก)ตรงที่ เขาบอกว่า …
ถ้าการสร้างกำแพงเบอร์ลินเป็นนวัตกรรมอันยิ่งใหญ่ การลอบข้ามกำแพงก็ถือเป็นนวัตกรรมอันยิ่งใหญ่กว่า
เพราะมีหลายวิธีที่คนพยายามคิดค้นเพื่อข้ามกำแพงเบอร์ลิน เช่น การใช้บอลลูน การสร้างสลิงข้ามด้วยเวลาแค่2นาที การขุดอุโมงค์ลอดกำแพง ซึ่งวิธีพวกนี้ก็ทำให้คนข้ามไปได้เป็นร้อยๆคน
มีอีกวิธีที่ใช้ข้ามไปฝั่งตะวันตกได้ก็คือ การว่ายข้ามแม่น้ำ แล้วกองทัพอังกฤษก็ค่อยหย่อนบันไดให้ปีนขึ้นฝั่ง
มีคนข้ามสำเร็จ ก็ย่อมมีคนไม่สำเร็จเหมือนกัน ในวิกิพีเดียภาษาอังกฤษ ระบุตัวเลขผู้เสียชีวิต จากการลอบข้ามกำแพงเบอร์ลินไว้แค่ 100 – 200 คน
แต่ในความเป็นจริงมันมากกว่านั้นอยู่แล้ว ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะ ตอนยิงไม่ได้มีใครมาจดไว้นี่คะ นับประสาอะไรกับคนที่ตาย ก็ไม่แจ้งครอบครัวด้วยซ้ำ
https://th.wikipedia.org/wiki/กำแพงเบอร์ลิน
—————————————————
แผนที่แนวกำแพงเบอร์ลิน
จากรูปนี้ ตัดมาเฉพาะกรุงเบอร์ลินนะคะ จะเห็น ฝั่งซ้าย(สีเหลือง) คือเบอร์ลินตะวันตก และฝั่งขวา(สีแดง) คือเบอร์ลินตะวันออก
เนื่องจากสีเหลืองเป็นเหมือนไข่แดงตรงกลางที่ถูกล้อม
สหภาพโซเวียตก็เลยสร้างกำแพงปิดล้อมไว้หมดเลย เหลือไว้แค่ประตูด่านเข้าออก และสนามบิน
ทีนี้สงสัยมั้ยคะว่า ทำไมประชาชนเวลาหนี ต้องจ้องแต่จะเข้าเบอร์ลิน ที่อยู่ตรงกลาง เข้าไปก็เหมือนโดนขัง ทำไมไม่ไปชายแดนล่ะ
ก็เพราะว่า… ชายแดนก็มีกำแพงเหมือนกันค่ะ และที่สำคัญคือมันหนา และหลายชั้นกว่า แถมยังมีกับดัก หอคอยดักยิง ลวดหนาม หรืออะไรฝังใต้ดินอีก โอ้ย…เยอะอ่ะ แอดมินว่าตัวตุ่น หรือยุงบินข้ามก็คงไม่รอดล่ะค่ะ
ดังนั้นหันมาที่กรุงเบอร์ลินดีกว่า เพราะมันมองเห็นอีกฝั่งได้เลยนะ ถ้ากระโดดไกลซักหน่อย ข้ามไปได้ก็มีคนรอช่วยกันเห็นๆ พอข้ามไปได้ปุ๊บก็ไปรอที่สถานทูต เดี๋ยวก็ต้องมีคนพาออกไปยังแผ่นดินใหญ่ฝั่งตะวันตกจริงๆได้แล้ว
—————————————————
ในระหว่างนี้ก็เกิดสงครามเย็นควบคู่กันไปด้วย โดยมีการรบกันในระดับภูมิภาค ซึ่งเป็นสงครามตัวแทน ทั้งในเกาหลี เวียดนาม อัฟกานิสถาน โดยที่มีประเทศมหาอำนาจคอยหนุนอยู่ข้างหลัง
ประเทศมหาอำนาจในที่นี้ คือ สหรัฐอเมริกา และสหภาพโซเวียต โดยมีความแตกต่างทางเศรษฐกิจ และการเมือง คือ…
สหภาพโซเวียต เป็นรัฐลัทธิมากซ์-เลนิน เป็นพรรคการเมืองเดียว
สหรัฐอเมริกา เป็นรัฐทุนนิยม โดยมีการเลือกตั้งเสรี
ทั้งสองฝ่ายไม่เคยปะทะกันโดยตรง แต่ต่างฝ่ายจะสั่งสมเตรียมรับสงครามอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะการแข่งกันสร้างนิวเคลียร์ ไม่ใช่เพื่อเอานิวเคลียร์มายิงใส่กัน แต่เพื่อสร้างแสนยานุภาพ ทำให้อีกฝ่ายกลัวเกรง รวมถึงการสร้างกำลังทหารให้แข็งแกร่งเพื่อข่มอีกฝ่ายอีกด้วย
นอกจากด้านอาวุธและกำลังทหารแล้ว ทั้งสองฝ่ายยังต่อสู้เพื่อครองความเป็นใหญ่ ซึ่งแสดงออกมาผ่านสงครามตัวแทนทั่วโลก การทำสงครามจิตวิทยา การโฆษณาชวนเชื่อ และการจารกรรม รวมถึงการแข่งขันกันทางเทคโนโลยี เช่นด้านอวกาศ
ข้อมูลจาก https://th.wikipedia.org/wiki/สงครามเย็น
กำแพงเบอร์ลินถูกทำลาย
ต่อมาในปีค.ศ.1989 นาย มีฮาอิล กอร์บาชอฟ ซึ่งเป็นประธานาธิบดีของสหภาพโซเวียต ได้มีการทดลองปฏิรูปการปกครอง ไปสู่ระบอบประชาธิปไตย ในเยอรมนีตะวันออก
โดยเปลี่ยนจากระบอบคอมมิวนิสต์ เป็นประชาธิปไตยไปแล้ว และเปลี่ยนชื่อเป็น สาธารณรัฐประชาธิปไตยเยอรมนี (German Democratic Republic) ด้วยค่ะ
ไม่นานก็เกิดการชุมนุมประท้วงใหญ่อย่างสงบ เพื่อเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ(สงสัยพอทดลองเปิดเสรี ก็เลยประท้วงได้ ก่อนหน้านี้เป็นคอมมิวนิสต์อยู่ ประท้วงไม่ได้)
พอคนเห็นข่าว ก็แห่กันไปร่วมเดินขบวน ตามเมืองใหญ่ๆต่างๆด้วย อย่างเมืองไลฟ์ซิจมีคนมากที่สุดถึง 250,000 คน
แต่เหตุการณ์ประท้วงครั้งนี้ ทำให้รัฐบาลได้รับความกดดันเป็นอย่างมาก จึงประกาศว่าจะเปิดพรมแดนให้
แอดมินเข้าใจว่า แม้กอร์บาชอฟจะอยากช่วยประชาชน แต่คงไม่ง่าย และอาจมีความขัดแย้งภายในรัฐบาลเหมือนกัน
แล้วที่ประกาศไป ก็เป็นการประกาศเพื่อลดความตึงเครียด ให้ประชาชนใจเย็นลง แต่คงไม่ได้หมายถึงจะเปิดอ้า 100% หรอกค่ะ
อาจจะแค่ลดข้อบังคับลง ค่อยๆเป็นค่อยๆไป หรือไม่ก็อาจจะยังไม่ได้คิดแผนเลยด้วยซ้ำ แค่อยากคุมสถานการณ์ไม่ให้บานปลายแค่นั้นเอง
แต่ผลกลับตรงกันข้ามค่ะ พอประชาชนได้ยินแบบนั้น ก็เลยแห่กันมารอหน้าประตู รอออกไปฝั่งตะวันตกกันเป็นล้านๆคน จนกระทั่งผู้คุมประตูก็ต้องยอมปล่อยไปอย่างไม่มีทางเลือก
โอ้ววว….ถ้ารวมตัวกันได้มากๆแบบนี้ตั้งแต่แรก ก็จบไปนานแล้วสินะ
อ่านมาถึงตรงนี้ เริ่มอินกับประวัติศาสตร์ เริ่มเสียใจ และดีใจตามไปด้วย เพราะเช้ามืดวันนั้น ตอนที่ประชาชนฝั่งตะวันออก ผ่านเข้ามายังดินแดนตะวันตก ก็มีคนฝั่งตะวันตกมาคอยต้อนรับกัน อย่างกับงานเฉลิมฉลอง ทั้งๆที่ไม่ได้รู้จักกันมาก่อน
และกำแพงเบอร์ลินก็ถูกทุบทำลายไปบางส่วน โดยประชาชนนั่นเอง
ในปีถัดไป (ค.ศ.1990) ถึงได้มีการทำลายกำแพงเบอร์ลินอย่างเป็นทางการ แต่ก็ยังอนุรักษ์กำแพงไว้บางส่วน เพื่อเป็นอนุสรณ์ (ใครไปเที่ยวเบอร์ลิน ต้องแวะไปรำลึกเหตุการณ์ให้ได้นะคะ)
ชิ้นส่วนของกำแพงก็ถูกประมูลไปบ้าง ส่งไปเข้าพิพิธภัณฑ์บ้าง
ข้อมูลจาก https://th.wikipedia.org/wiki/กำแพงเบอร์ลิน
การประชุม “สองบวกสี่”
หลังจากกำแพงเบอร์ลินถูกทำลาย ก็ได้เริ่มเปิดประชุมสองบวกสี่ ที่กรุงบอนน์ ในปีค.ศ.1990
การประชุมสองบวกสี่ ได้แก่
เยอรมนีทั้งสองฝั่ง (สาธารณรัฐประชาธิปไตยเยอรมนี และสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี)
ประเทศผู้ชนะสงคราม (สหภาพโซเวียต ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา)
การประชุมสองบวกสี่ ได้นำไปสู่การรวมประเทศเยอรมนี ภายใต้เงื่อนไขสำคัญคือ
มหาอำนาจผู้ชนะสงคราม จะต้องละทิ้งสิทธิที่เคยถือครองในเยอรมนีทั้งหมด และ
กองทัพโซเวียตทั้งหมด จะต้องออกจากเยอรมนี
แต่…เยอรมนีจะต้อง…
จำกัดกองทัพทหารให้ไม่เกิน 370,000 นายเท่านั้น และ
ยืนยันที่จะสละสิทธิ์การผลิต การถือครอง และการควบคุมอาวุธนิวเคลียร์ อาวุธชีวภาพ และอาวุธเคมี รวมถึงทำให้พื้นที่ที่เคยเป็นเยอรมนีตะวันออก เป็นพื้นที่ปลอดอาวุธนิวเคลียร์
อีกเงื่อนไขสำคัญหนึ่งคือ ไม่อ้างสิทธิ์เหนือดินแดนทางตะวันออกของโปรแลนด์ในภายหลัง
นับแต่นั้นมา ก็ทำให้ประเทศเยอรมนี มีอำนาจอธิปไตยสมบูรณ์ ในปีค.ศ.1991 เป็นต้นมา
ข้อมูลจาก
http://www.bangkok.diplo.de/Vertretung/bangkok/th/07/20JahreDeutscheEinheit__seite.htmlhttps://th.wikipedia.org/wiki/สนธิสัญญาว่าด้วยการตกลงขั้นสุดท้ายเกี่ยวกับดินแดนเยอรมนี
ประเทศเยอรมนี (Germany) ปัจจุบัน
มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (Federal Republic of Germany)
ประกอบด้วยรัฐทั้งหมด 16 รัฐ
ปกครองแบบประชาธิปไตยเชิงเสรีภาพและรัฐสวัสดิการ
เมืองหลวงอยู่ที่เบอร์ลิน
ข้อมูลส่วนใหญ่มาจาก
https://th.wikipedia.org/wiki/ประวัติศาสตร์เยอรมนี
https://th.wikipedia.org/wiki/ชาร์เลอมาญ
https://th.wikipedia.org/wiki/จักรวรรดิไบแซนไทน์
https://th.wikipedia.org/wiki/จักรวรรดิโรมัน
ใครอ่านแล้วยังเรียงลำดับเหตุการณ์ไม่ได้ ลองอ่าน สรุปประวัติเยอรมนี อีกทีนะคะ
สวัสดีค่ะ GoNoGuide มีเป้าหมายที่จะให้ข้อมูลท่องเที่ยวและวีซ่า อย่างเต็มที่ในทุกเรื่องที่เรารู้ เพื่อนๆที่ต้องการสนับสนุนเรา สามารถทำได้ดังนี้
- เลือกบริการที่ต้องการสนับสนุนเรา
- GoNoGuide จะได้รับค่าคอมมิชชั่นเล็กๆน้อยๆ โดยที่เพื่อนๆไม่ต้องจ่ายอะไรเพิ่ม สำหรับลิงค์แนะนำโรงแรม เครื่องบิน และประกันต่างๆ
- กดติดตามช่อง Youtube และ Facebook GoNoGuide
ขอขอบคุณที่สละเวลาอ่านค่ะ
wow อ่านไปอ่านมาก็สนุกดีนะเนี้ย ชอบๆมากครับ ขอบคุณครับ
ขอบคุณค่าาา
อยากเก็บไว้ มีไฟล์อื่นป่าวคะ
ชอบมากๆ อ่านได้ความรู้ แล้วยังสนุกสนานเพลิดเพลิน